สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก มีมติรับรองร่างกฎหมายยืดอายุโครงการสอดส่องกิจกรรมด้านข่าวกรอง ซึ่งเป็นที่ถกเถียงถึงการละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน แต่ก็เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับปฏิบัติการรวบรวมข้อมูลด้านข่าวกรอง ตามการรายงานของรอยเตอร์
ในวันศุกร์ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ผ่านกฎหมายที่จะขยายเวลาการดำเนินงานตามมาตรา 702 ของกฎหมายสอดส่องการข่าวกรองต่างชาติ (Foreign Intelligence Surveillance Act หรือ FISA) ที่กำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 19 เมษายนนี้ ก่อนส่งต่อร่างฯ ไปยังวุฒิสภาที่คาดว่าจะได้รับการรับรองโดยสองพรรคใหญ่
การผ่านกฎหมายนี้เกิดขึ้นในการลงคะแนนเสียงเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งเสียงรับรองในครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นหลังแก้กรอบเวลาของการดำเนินงานตามกฎหมายนี้จาก 5 ปี เป็น 2 ปี ตามข้อเรียกร้องของฝ่ายพรรครีพับลิกัน
สมาชิกสภานิติบัญญัติหลายคนจากทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน ต่างมีข้อวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายนี้ ว่าเป็นการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการประกันตามรัฐธรรมนูญ
ในช่วงที่ร่างฯ ยังอยู่ในการพิจารณาของสภา ทำเนียบขาว หัวหน้างานด้านข่าวกรอง รวมถึงสมาชิกรัฐสภาที่นั่งอยู่ในกรรมาธิการ (กมธ.) ด้านข่าวกรอง ต่างออกมาส่งสัญญาณถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากสภาไม่สามารถผ่านกฎหมายฉบับนี้ได้ โดย ไมค์ เทอร์เนอร์ ประธาน กมธ. ด้านข่าวกรอง สภานิติบัญญัติ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันพุธว่า “เราจะตาบอดในวันที่ 19 เมษายน”
รอยเตอร์ระบุว่า บ่อยครั้งการเก็บข้อมูลชาวต่างชาติตามโครงการนี้ ซึ่งมีขึ้นหลังเหตุการณ์เครื่องบินชนอาคารเวิร์ลด์ เทรด เซนเตอร์ เมื่อ 11 กันยายน 2001 มักเป็นการบันทึกข้อมูลการสื่อสารของเป้าหมายกับชาวอเมริกัน และสามารถทำได้โดยหน่วยงานในประเทศ เช่น สำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) โดยไม่ต้องมีหมายศาล
สภาพการณ์ข้างต้นทำให้ผู้แทนสายไม่ประนีประนอมจากพรรครีพับลิกัน และฝ่ายซ้ายจัดของเดโมแครตออกมาแสดงอาการห่วงกังวล ไม่เพียงเท่านั้น ข้อมูลที่มีการเปิดเผยล่าสุดที่บ่งชี้ว่า FBI ใช้โครงการสอดส่องนี้เพื่อสืบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประท้วงเพื่อคนผิวดำ Black Lives Matter รวมถึงผู้บริจาคเงินให้กับสมาชิกสภาคองเกรส ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงเจตนารมย์ของตัวโครงการ
ก่อนหน้านี้ ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมา คือการแก้กฎหมายให้หน่วยงานรัฐ ต้องได้รับหมายศาลก่อนที่จะทำการสืบค้นข้อมูล ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารมองว่าเป็นการลดทอนศักยภาพการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น