สหรัฐ และอินเดีย คือส่วนหนึ่งของประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ทางการต้องประกาศใช้มาตรการควบคุมหรือล็อคดาวน์รอบใหม่เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19
อินเดียรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเกือบ 20,000 รายในวันจันทร์ ซึ่งมากที่สุดเป็นสถิติใหม่ โดยขณะนี้อินเดียขยับขึ้นมาเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดเป็นอันดับ 4 รองจากสหรัฐฯ บราซิล และรัสเซีย ด้วยตัวเลขประมาณ 550,000 คน
รัฐอัสสัมประกาศกลับมาใช้มาตรการล็อคดาวน์อีกครั้งจนถึงวันที่ 12 ก.ค. ขณะที่รัฐเบงกอลตะวันตกขยายเวลาล็อคดาวน์ไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ค.
ส่วนในสหรัฐฯ พบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในรัฐทางใต้และทางตะวันตก ได้แก่ รัฐฟลอริดา เท็กซัส แคลิฟอร์เนีย และแอริโซนา
ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา รอน เดอซานติส ประกาศในวันอาทิตย์ว่า ได้เริ่มปิดชายหาดทั่วรัฐฟลอริดาอีกครั้ง และจำกัดการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามบาร์ต่าง ๆ พร้อมทั้งตำหนิคนหนุ่มสาวที่ไม่สวมหน้ากากและไม่เว้นระยะห่างทางสังคม ว่าเป็นต้นเหตุของการที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
ผู้ว่าการรัฐเท็กซัสและแคลิฟอร์เนียต่างสั่งปิดบาร์หลายแห่งเช่นกัน ขณะที่ผู้ว่าการรัฐวอชิงตันสั่งระงับการเปิดเฟสที่ 4 ตามแผนเปิดเมืองที่วางไว้ หลังจากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากกว่า 3,000 คนในรัฐวอชิงตันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
จนถึงขณะนี้ สหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อทั้งหมดมากกว่า 2.56 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 125,000 คน โดยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มวันละมากกว่า 35,000 คน เป็นเวลาหกวันติดต่อกันแล้ว
ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เทดรอส เกเบรเยซุส กล่าวย้ำในวันจันทร์ว่า วิกฤติการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลกในเวลานี้ “ยังไม่ใกล้จุดสิ้นสุดแม้แต่น้อย” พร้อมระบุว่า แม้หลายประเทศจะประสบความสำเร็จในการชะลอการระบาดของไวรัสนี้ ยังไม่มีใครสามารถหยุดยั้งได้อย่างสิ้นเชิงเลย
ทั้งนี้ วันอังคารนี้ถือเป็นวันครบรอบ 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่องค์การอนามัยโลกได้รับแจ้งเกี่ยวกับกรณีการติดเชื้อโรคปอดอักเสบในกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในประเทศจีน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติสาธารณสุขครั้งนี้
ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกยังกล่าวด้วยว่า ขณะที่ผู้คนทั่วโลกยังมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ได้ต่อไป การต่อสู้ศึกครั้งนี้ยังคงต้องดำเนินต่อไปอีกนาน
สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกเวลานี้สูงเกิน 10.2 ล้านคน และเสียชีวิตมากกว่า 502,000 คน ตามข้อมูลจากมหาวิทยาลัย จอนส์ ฮอพกินส์