เมื่อวันเสาร์ ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวหลังการหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้น ผิงของจีนว่าตนตกลงยอมให้บริษัทเทคโนโลยีอเมริกันค้าขายกับบริษัทหัวเหว่ยต่อไปได้ถึงแม้จะมีข้อกังวลเรื่องความมั่นคงก่อนหน้านี้ก็ตาม
แต่เมื่อวันอังคารที่ปรึกษาด้านการค้าของทำเนียบขาวให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลสหรัฐจะยอมให้มีการขายชิพคอมพิวเตอร์และสินค้าเทคโนโลยีระดับต่ำซึ่งไม่มีผลกระทบด้านความมั่นคงแห่งชาติเท่านั้น หลังจากนั้นในวันพุธสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมการส่งออกว่าให้ปฏิบัติต่อหัวเหว่ยในฐานะบริษัทที่ถูกขึ้นบัญชีดำต่อไป
ความไม่ชัดเจนของเรื่องนี้สร้างความไม่แน่ใจให้กับกลุ่มบริษัทไฮเทคโดยเฉพาะที่อยู่ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป และนายเควิน วูลฟ์ นักกฎหมายซึ่งเคยทำงานอยู่ในกระทรวงพาณิชย์สหรัฐตั้งข้อสังเกตว่าในแง่กฎหมายแล้วยังไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลง และสิ่งเดียวที่เปลี่ยนไปคือสุ้มเสียงของฝ่ายรัฐบาลสหรัฐ แต่ในส่วนของนโยบายเรื่องนี้ยังไม่ลงตัว
เมื่อเดือนพฤษภาคม รัฐบาลสหรัฐใส่ชื่อบริษัทหัวเหว่ยลงในบัญชีดำที่ห้ามธุรกิจอเมริกันทำการค้าขายด้วยโดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G และกำหนดให้ธุรกิจอเมริกันผู้ต้องการขายเทคโนโลยีให้หัวเหว่ยต้องขอใบอนุญาตก่อน แต่หลังจากนั้นก็ยอมผ่อนผันโดยให้เวลาบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือและผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงของสหรัฐจนถึงกลางเดือนสิงหาคมเพื่อทำตามข้อตกลงผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่กับหัวเหว่ยในปัจจุบัน
ขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ก็รายงานว่าผู้ผลิตเซมิคอนดัคเตอร์บางรายของสหรัฐเช่น Intel ยังคงขายสินค้าและเทคโนโลยีให้กับหัวเหว่ยต่อไปโดยไม่ต้องมีใบอนุญาต และเหตุผลข้ออ้างของบริษัทเหล่านี้ก็คือเทคโนโลยีที่ส่งให้หัวเหว่ยนั้นผลิตขึ้นนอกสหรัฐและไม่เป็นภัยต่อความมั่นคง
จากความสับสนและการขาดรายละเอียดเรื่องการปฏิบัติต่างๆ ทำให้นักวิเคราะห์ในวงการอุตสาหกรรมเชื่อว่าโอกาสที่หัวเหว่ยจะถูกถอดจากบัญชีดำนั้นคงเป็นไปได้ยากเพราะรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์อ้างเหตุผลเรื่องการขโมยความลับด้านการค้าและการหลีกเลี่ยงมาตรการลงโทษของสหรัฐต่ออิหร่าน รวมทั้งระบุว่าหัวเหว่ยเป็นภัย คุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติด้วย ถึงแม้ว่ารัฐบาลสหรัฐจะยังไม่สามารถพิสูจน์ข้อกล่าวหาเหล่านี้ก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ผู้เชี่ยวชาญบางคน เช่น คุณเจมส์ ลูวิสจาก Center for Strategic and International Studies จึงมองว่ารัฐบาลสหรัฐอาจยอมให้มีการขายเทคโนโลยีของสหรัฐต่อไปได้แต่มุ่งเฉพาะสินค้าโทรศัพท์มือถือโดยไม่รวมถึงอุปกรณ์เพื่อการสร้างโครงข่ายพื้นฐานสำหรับระบบ 5G หรือซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่อาจช่วยให้หัวเหว่ยสามารถออกแบบเทคโนโลยีของตนได้ หรือมิฉะนั้นบริษัทเทคโนโลยีอเมริกันที่ต้องการค้าขายกับหัวเหว่ยจะถูกกำหนดให้ต้องขอใบอนุญาต โดยจะมีการพิจารณาเรื่องนี้เป็นรายๆ ไปว่าการค้านั้นสร้างความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติของประเทศหรือไม่