รายงานล่าสุด สถาบัน Center for the Study of Hate and Extremism ที่มหาวิทยาลัย California State University วิทยาเขตซานเบอร์นาร์ดิโน เผยว่าในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้ ยอดอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังตาม 15 เมืองใหญ่ของสหรัฐฯ ที่นับรวมแล้วมีประชากรราว 25.5 ล้านคนได้เพิ่มสูงขึ้น 5% ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง
หากเทียบกับในช่วงสองปีที่ผ่านมา อาชญากรรมประเภทดังกล่าวพุ่งขึ้นในอัตรากว่า 10% เช่น เมื่อปี 2021 การวิเคราะห์ข้อมูลจาก 52 เมืองใหญ่ของสหรัฐฯ ชี้ว่า อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังเพิ่มขึ้นถึง 30%
ความรุนแรงลักษณะนี้ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ปรากฏชัดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากความเกลียดชังต่อคนเชื้อสายเอเชียระหว่างการระบาดของโคโรนาไวรัสและความเกลียดชังต่อคนผิวสีเมื่อเกิดเหตุประท้วงที่ลุกลามไปหลายเมืองทั่วสหรัฐฯ ปี 2020 หลังการเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายชาวแอฟริกันอเมริกัน ระหว่างที่เขาถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ
หากการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมความเกลียดชังในสหรัฐฯ ยังดำเนินต่อไป ปีนี้จะนับว่าเป็นปีที่สี่ที่มีการกระทำผิดลักษณะนี้เพิ่มขึ้น
ไบรอัน เลวิน ผู้อำนวยการสถาบัน Center for the Study of Hate and Extremism กล่าวว่า แม้อาชญากรรมความเกลียดชังจะมีการลดตัวลงในปัจจุบัน แต่อาจลดลงเพียงชั่วคราว จึงจำเป็นต้องศึกษาและวิเคราะห์ทิศทางการเกิดอาชญากรรมประเภทนี้หลาย ๆ ปี
ทางด้าน อารูชา กอร์ดอน แห่งองค์กร Lawyers’ Committee for Civil Rights Under Law เตือนว่า ยอดของอาชญากรรมความเกลียดชังมักจะต่ำกว่าความเป็นจริง และกล่าวว่า “ผมมักจะรู้สึกหวั่น ๆ เวลาพูดเรื่องตัวเลขของอาชญากรรมความเกลียดชังเพราะเราทราบดีว่าเราไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ”
รายงานล่าสุดของสถาบัน Center for the Study of Hate and Extremism ได้รับการเปิดเผยออกมาก่อนการรายงานอาชญากรรมความเกลียดชังในสหรัฐฯของปี 2021 ที่คาดว่าทาง FBI จะตีพิมพ์ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้
อย่างไรก็ดี กอร์ดอนได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรมความเกลียดชังในเมืองใหญ่ ๆ เบื้องต้นและคาดการณ์ว่า รายงานของ FBI จะเผยตัวเลขการเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% เพราะในปีนี้ คนผิวสี ชาวยิว กลุ่มคนที่ถูกเลือกปฏิบัติเพราะเพศวิถีของตน และผู้มีเชื้อสายละติน เป็นกลุ่มหลักที่ตกเป็นเหยื่อ
เขากล่าวว่าส่วนกลุ่มชาวเอเชียนอเมริกันได้รับผลกระทบน้อยกว่า ในบางพื้นที่ของประเทศ
กอร์ดอนอธิบายว่า แม้การทำร้ายจากการมีอคติต่อเอเชียนอเมริกันซึ่งเกิดขึ้นสูงจนเป็นสถิติใหม่เมื่อปีที่แล้ว ทั่วประเทศ แต่กลับลดลงตามเมืองใหญ่ ๆ เช่น จำนวนเหตุการณ์ของอาชญากรรมประเภทนี้ลดลงในนครนิวยอร์กถึง 48% และในนครลอสแองเจลิสถึง 17%
ทั้งนี้ เขาย้ำว่าอาชญากรรมความเกลียดชังต่อเอเชียนอเมริกันยังคงสูงอยู่ และได้เตือนว่าในช่วงครึ่งปีหลังของ 2022 ซึ่งจะมีการเลือกตั้งกลางสมัยของสหรัฐฯ ขึ้น อัตราการเกิดของอาชญากรรมดังกล่าวน่าจะพุ่งสูงเพราะวาทะทางการเมืองที่ร้อนแรง
เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว สภาคองเกรสของสหรัฐฯได้ผ่านกฎหมาย The COVID-19 Hate Crimes Act เพื่อเพิ่มระดับการทำงานการสืบสวนคดีอาชญากรรมความเกลียดชังให้รวดเร็วขึ้น และเพื่อหยุดยั้งการเกิดอาชญากรรมดังกล่าวต่อชาวเอเชียนอเมริกันซึ่งตกเป็นเหยื่อจำนวนมากตอนโควิดระบาด ซึ่งรวมถึงนายวิชา รัตนภักดี วัย 84 ปี เหยื่อชาวไทยที่นครซานฟรานซิสโก
รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ เผยสถิติในวาระครบรอบหนึ่งปีของกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ได้ดำเนินคดีอาญาที่เกิดจากความเกลียดชังที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด ต่อผู้ต้องสงสัยกว่า 40 คน ตั้งแต่ต้นปี 2021
นอกจากนี้ ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน จะเป็นเจ้าภาพจัดงานที่ทำเนียบขาวเพื่อลดความรุนแรงที่เกิดจากความเกลียดชังและส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยและความปลอดภัยของส่วนรวมอีกด้วย
-
ที่มา: วีโอเอ