หลายคงเคยได้ยินมาแล้วว่า สหรัฐอเมริกานั้นเป็นประเทศมีวัฒนธรรมที่เป็นหม้อหลอม หรือ Melting Pot ทำให้เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากแห่งหนึ่ง
และสำหรับด้านวัฒนธรรมอาหารนั้น บล็อก Chef’s Pencil ซึ่งเป็นบล็อกที่นำเสนอข้อมูลตำรับอาหารจากเชฟมืออาชีพมากมาย ทำการสำรวจแล้วพบว่า อาหารเม็กซิกันเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมมากระดับต้นๆ ใน 27 รัฐ โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ขณะที่ คนใน 22 รัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ กลับบอกว่าชื่นชอบอาหารจีนเป็นพิเศษ
ข้อมูลดังกล่าวอาจไม่น่าแปลกใจ หากพิจารณาความจริงที่ว่า สัดส่วนผู้อพยพเชื้อสายจีนและเม็กซิกันที่เข้ามาในสหรัฐฯ นั้นสูงอยู่มาก และเมื่อวันเวลาผ่านไป ชาวอเมริกันที่สืบเชื้อสายมาจากทั้งสองประเทศนี้เฝ้าพัฒนาวัฒนธรรมอาหารของตนให้ผู้บริโภคมีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์โดยตรงได้อย่างง่ายดาย ขณะที่กระแสนิยมทดลองอาหารใหม่ๆ และอาหารที่ดีต่อสุขภาพในช่วงหลายปีที่ผ่านมายิ่งทำให้ผู้คนชื่นชอบอาหารจีนและอาหารเม็กซิกันมากขึ้นไปด้วย
อย่างไรก็ตาม จอร์จี้ มิฮาอิลา บล็อกเกอร์ด้านอาหารจาก Chef’s Pencil ให้ความเห็นว่า ภาวการณ์ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้ทุกคนต้องอยู่ในบ้านนานนับเดือน กลายมาเป็นตัวอย่างของโอกาสที่หลายคนได้เลือกลองรับประทานอาหารพื้นบ้านอื่นๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสั่งจากร้านหรือทดลองทำเองที่บ้าน
อาหารพื้นบ้านอื่นๆ ที่เริ่มเป็นที่นิยมในสหรัฐฯ มากขึ้น ที่รวมถึง อาหารไทย ซึ่ง Chef’s Pencil ระบุว่าเป็นที่นิยมเป็นอันดับ 4 จากทั้งหมด 7 อันดับ และเป็นที่ชื่นชอบมากที่สุดในรัฐอะแลสกาและรัฐฮาวาย รวมทั้ง อาหารอิตาเลียน อาหารเกาหลี อาหารเวียดนาม และอาหารญี่ปุ่น ที่เจ้าของต้นตำรับพยายามปรับเปลี่ยนรสชาติให้เหมือนสูตรดั้งเดิมมากขึ้น หลังจากยอมปรับแต่งให้ถูกปากผู้บริโภคชาวอเมริกันมานาน
ในส่วนของความพยายามส่งเสริมความนิยมจากประเทศที่เกี่ยวข้องนั้น มีตัวอย่างกรณีของอาหารไทย เมื่อปี ค.ศ. 2002 ที่รัฐบาลไทยริเริ่มโครงการฝึกพ่อครัวและแม่ครัวอาหารไทย ด้วยการส่งผู้เชี่ยวชาญออกนอกประเทศเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในครัวไปทั่วโลก ภายใต้แนวคิด Global Thai Culinary หรือ ครัวไทยสู่สากล เพื่อช่วยเพิ่มจำนวนร้านอาหารไทยในประเทศต่างๆ ซึ่งรวมถึงที่สหรัฐฯ ด้วย
และในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีทำให้พรมแดนที่เคยทำให้การส่งผ่านวัฒนธรรมเป็นไปได้ยากเริ่มหายไป ประกอบกับจำนวนประชากรสหรัฐฯ ยุคมิลเลนเนียล หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 26 และ 40 ปี ที่มีสัดส่วนสูงที่สุดในประเทศ การแบ่งปันประสบการณ์ด้านอาหารอันหลากหลายผ่านช่องทางสังคมออนไลน์มากมาย ทำให้ความนิยมในอาหารประจำชาติอื่นๆ ในสหรัฐฯ ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นไปโดยปริยาย
มิฮาอิลา จาก Chef’s Pencil กล่าวว่า ประสบการณ์ที่ว่านั้น ไม่ใช่มีเพียงเรื่องของตัวอาหารเท่านั้น แต่รวมถึง บรรยากาศ วัฒนธรรม และเรื่องอื่นที่ทั้งสนุกและน่าจดจำ ขณะที่คนยุคมิลเลนเนียล ซึ่งมีความใส่ใจเรื่องสุขภาพมากพอๆ กับการได้ลิ้มรสอาหารที่ไม่เน้นส่วนประกอบที่เป็นเนื้อสัตว์มาก พร้อมๆ กับการค้นพบวัฒนธรรมใหม่ๆ กลายมาเป็นสื่อกลางที่ช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารนานาชาติในสหรัฐฯ ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้น การที่อาหารประจำชาติอื่นๆ ในสหรัฐฯ มักเป็นอาหารที่ไม่แพง และมีราคาย่อมเยาว์กว่าอาหารอเมริกันหรืออาหารจากบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เนื่องจากผู้อพยพทั้งหลายที่นำอาหารของตนมาที่ประเทศนี้มักเป็นผู้ที่มีฐานะไม่ร่ำรวย ยิ่งทำให้การแพร่หลายและได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภควงกว้างเป็นไปได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม มิฮาอิลา ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า พฤติกรรมผู้บริโภคในสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะเริ่มขยับไปสู่การผสมผสานประสบการณ์อาหารนานาชาติเข้ากับบรรยากาศการรับประทานที่ยกระดับขึ้นในเร็วๆ นี้แล้ว
เธอทิ้งท้ายไว้ว่า การนำเสนออาหารพื้นบ้านจากประเทศใดก็ตาม ในรูปแบบของบริการแบบภัตตาคาร หรือ Fine Dining อาจไม่ใช่สิ่งที่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ มองหาเมื่อก่อนหน้านี้ แต่หลังการกลับมาเปิดกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจเมื่อเร็วๆ นี้ ภัตตาคารร้านอาหารหลายแห่งที่นำเสนออาหารประจำชาติ เช่น เม็กซิกัน ไทย หรือ อินเดียน เริ่มเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการที่มีระดับมากขึ้น ซึ่งพบว่าประสบความสำเร็จไปกันแล้ว