ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้แทนสหรัฐฯ ชี้ จีน-รัสเซีย ร่วมมือทางทหารในอาร์กติก เป็น ‘สัญญาณน่ากังวล’


ภาพภูเขาน้ำแข็งในพื้นที่อาร์กติกที่ประเทศนอร์เวย์ (ที่มา:Reuters/แฟ้มภาพ)
ภาพภูเขาน้ำแข็งในพื้นที่อาร์กติกที่ประเทศนอร์เวย์ (ที่มา:Reuters/แฟ้มภาพ)

ทูตสหรัฐฯ ประจำพื้นที่อาร์กติก กล่าวว่ากรุงวอชิงตันกำลังจับตามองความร่วมมือระหว่างจีนและรัสเซียที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงในด้านการทหารที่ส่ง “สัญญาณน่ากังวล” ตามการรายงานของรอยเตอร์

จีนและรัสเซียยกระดับความร่วมมือทางทหารในพื้นที่อาร์กติกไปพร้อมกับการสานสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หนึ่งในรูปธรรมของความเคลื่อนไหวนี้ คือการที่จีนจัดส่งสินค้าที่สามารถใช้ได้ทั้งในด้านการทหารและพลเรือนให้รัสเซีย แม้ชาติตะวันตกจะคว่ำบาตรรัฐบาลมอสโกสืบเนื่องจากการรุกรานยูเครน

รัสเซียและสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในแปดชาติที่มีดินแดนในพื้นที่อาร์กติกที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนจีนเรียกตนเองว่าเป็นรัฐ “ใกล้อาร์กติก” และต้องการสร้าง “เส้นทางสายไหมขั้วโลก” หรือ Polar Silk Road ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าใหม่ในช่วงที่น้ำแข็งขั้วโลกละลายมากขึ้น

ไมเคิล ซเฟรกา เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษด้านกิจการอาร์กติกแห่งสหรัฐฯ กล่าวว่า “ความถี่และความซับซ้อน” ของความร่วมมือทางทหารเมื่อไม่นานมานี้ระหว่างกรุงมอสโกและกรุงปักกิ่งในอาร์กติก เป็น “สัญญาณที่น่ากังวล”

ซเฟรกาที่เพิ่งสาบานตนรับตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้ว ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า “ข้อเท็จจริงที่พวกเขากำลังร่วมงานกันในอาร์กติก ได้รับความสนใจจากพวกเรา” และกล่าวด้วยว่ากำลังจับตามองอย่างใกล้ชิดถึงความเคลื่อนไหวว่าจะดำเนินไปอย่างไร

ซเฟรกาพูดถึงปฏิบัติการร่วมระหว่างเครื่องบินทิ้งระเบิดของจีนและรัสเซียนอกชายฝั่งรัฐอลาสกาเมื่อเดือนกรกฎาคม รวมถึงการเดินเรือร่วมกันระหว่างยามฝั่งสองชาติในช่องแคบแบริ่งเมื่อเดือนตุลาคม ซึ่งถึงแม้ทำในทะเลหลวงและถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่การมีเครื่องบินทิ้งระเบิดบินในพื้นที่ดังกล่าวก็ทำให้เกิดความกังวลในด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ

เมื่อเดือนกรกฎาคม กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน ออกรายงานที่ระบุว่า “กังวล” ถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและจีนที่มากขึ้นในอาร์กติก

รัฐบาลมอสโกและรัฐบาลปักกิ่งพยายามพัฒนาเส้นทางการค้าในอาร์กติก เพื่อให้รัสเซียส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้จีนได้มากขึ้นในจังหวะที่ถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร อีกด้านหนึ่ง จีนเองก็มองหาเส้นทางขนส่งสินค้าใหม่ ๆ เพื่อลดการพึ่งพาช่องแคบมะละกาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากเป็นเส้นทางการเดินเรือ อาร์กติกยังเป็นพื้นที่ที่มีเชื้อเพลิงฟอสซิลและสินแร่จำนวนมากฝังอยู่ใต้ดินและท้องทะเล และมนุษย์อาจจะสามารถเข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้ได้มากขึ้นเมื่อน้ำแข็งละลาย สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น

  • ที่มา:รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG