ในช่วงเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานสหรัฐฯ ที่รับผิดชอบเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ ใช้เวลาเตรียมการป้องกันการแทรกแซงการเลือกตั้งในประเทศที่มาจากฝีมือผู้ไม่ประสงค์ดีจากภายนอกมาโดยตลอด ขณะที่ หน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ ได้ข้อสรุปว่า รัสเซีย จีน และอิหร่าน พยายามที่จะหาทางเข้ามายุ่งและแทรกแซงกิจกรรมหาเสียงในการเลือกตั้งกลางสมัยเมื่อปี ค.ศ 2018 ซึ่งไม่ได้เป็นกระบวนการที่อุกอาจเท่ากับในปี ค.ศ. 2016 ที่แฮคเกอร์เจาะระบบเลือกตั้งใน 50 รัฐได้สำเร็จ แม้จะไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผลการเลือกตั้งก็ตาม
แต่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีนี้ ที่วิกฤตการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้มีสิทธิ์ชาวอเมริกันจำนวนมากเลือกส่งบัตรลงคะแนนทางไปรษณีย์มากขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้สิทธิ์ล่วงหน้า ที่รวมถึงการไปลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งพุ่งขึ้นถึงกว่า 85 ล้านคนในบ่ายวันศุกร์ตามเวลาในสหรัฐฯ ตามข้อมูลของ U.S. Elections Project ณ มหาวิทยาลัยแห่งฟลอริดา
เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ยืนยันว่า ความพยายามของผู้ไม่ประสงค์ดีจากทั้ง 3 ประเทศที่จะแทรกแซงการเลือกตั้งยังคงเดินหน้าอยู่ และเมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งออกมาเตือนว่า รัสเซีย และ อิหร่าน สามารถขโมยข้อมูลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจากฐานของมูลของรัฐบาลไปบ้างแล้ว
ผู้อำนวยการศูนย์รักษาความมั่นคงและต่อต้านข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NCSC วิลเลียม อิวานินา ออกแถลงการณ์ไว้ว่า การประเมินของทีมงานชี้ว่า รัสเซียพยายามจะทำลายชื่อเสียงของอดีตรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน ด้วยวิธีต่างๆ และพยายามที่จะส่งเสริมภาพลักษณ์ของ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์และสถานีโทรทัศน์ของรัสเซีย ขณะที่ จีนนั้นน่าจะไม่ต้องการให้ ปธน.ทรัมป์ ได้รับชัยชนะในครั้งนี้ เช่นเดียวกับ อิหร่านที่มองว่า หากผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบันชนะการเลือกตั้ง สหรัฐฯ จะเดินหน้ากดดันประเทศของตนต่อไป
นอกจาก 3 ประเทศที่ว่านี้ อิวานินา ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ เฮิร์สท เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า ในเวลานี้ น่าจะมีผู้ไม่ประสงค์ดีจากทั้งหมด 30 ประเทศ ที่ต้องการเข้ามามีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยรวมทั้ง ประเทศพันธมิตร เช่น ซาอุดิอาระเบีย และ ตุรกี และประเทศผู้เป็นศัตรู เช่น คิวบา และ เวเนซุเอลา
และขณะที่ คริสโตเฟอร์ เคร็บส์ ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงทางไซเบอร์ของสหรัฐฯ หรือ CISA จะยืนยันมาตลอดว่า สหรัฐฯ มีความมั่นใจและความพร้อมที่จะป้องกันการโจมตีระบบและเครือข่ายของประเทศ สิ่งที่ยังเป็นข้อกังวลก็คือ การโจมตีทางอ้อมด้วยการใช้ Ransomware หรือ มัลแวร์เรียกค่าไถ่ ซึ่งยังเป็นภัยคุกคามที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลต่อระบบการนับคะแนนเลือกตั้งได้
การโจมตีอีกวิธีหนึ่งที่หน่วยงานสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องมีความกังวลคือ การแฮ็คเจาะระบบเพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดๆ ให้ชาวอเมริกัน ผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งรวมถึง สื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลาย
และขณะที่ทุกฝ่ายพยายามหาทางป้องกันภัยคุกคามและวิธีการโจมตีทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นอยู่ หน่วยงานข่าวกรองและหน่วยงานรักษากฎหมายของสหรัฐฯ ยังคงมีอีกประเด็นที่กังวล นั่นก็คือ เหตุความรุนแรง
คริสโตเฟอร์ เรย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสืบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือ FBI แสดงความกังวลเกี่ยวกับสิ่งศัตรูของสหรัฐฯ อาจเลือกทำการเพื่อทำให้ความแตกแยกทางการเมืองในสหรัฐฯ รุนแรงขึ้น
เรย์ กล่าวว่า มีหลักฐานที่บ่งชี้ถึงความพยายามที่จะยกระดับความวุ่นวายและทำให้ความไม่ลงรอยกันในสังคมอเมริกันย่ำแย่ลงไปอีก จนกลายมาเป็นเรื่องอาชญากรรมรุนแรงและเป็นอันตรายต่อประชาชน ซึ่ง FBI ได้ตระหนักถึงความเสี่ยงด้านนี้และเตรียมการรับมือสถานการณ์ต่างๆ สำหรับการเลือกตั้งในปีนี้แล้ว
และเมื่อไม่นานมานี้ ทั้ง NCSC และ CISA ได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิ์ใช้เสียงตระหนักถึงภัยของความพยายามจากต่างชาติที่จะเข้ามายั่วยุให้ก่อเหตุหรือเข้าไปร่วมเหตุขัดแย้งรุนแรงต่างๆ ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง ไปจนถึงหลังวันเลือกตั้งให้ดี