บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งหนึ่งในสหรัฐฯ อ้างว่า ทางบริษัทตรวจพบการเพิ่มขึ้นของการจารกรรมข้อมูลทางไซเบอร์ จากกลุ่มผู้ไม่หวังดีในประเทศจีน มาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม เมื่อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่เริ่มแพร่กระจายออกนอกจีนไปสู่ประเทศอื่นๆ
บริษัท ไฟร์อาย อิงค์ รายงานว่า สถิติความพยายามจารกรรมข้อมูลจากกลุ่มแฮคเกอร์ที่มีชื่อว่า “APT41” เริ่มชัดเจนมาตั้งแต่วันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา โดยมีการพุ่งเป้าไปที่ลูกค้ากว่า 75 รายของบริษัท ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการผลิต บริษัทสื่อ และองค์กรด้านบริการดูแลสุขภาพ รวมทั้งองค์กรไม่หวังผลประโยชน์ด้วย
รายงานฉบับนี้ยังพูดถึงจุดอ่อนในซอฟท์แวร์ที่พัฒนาโดยบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ เช่น ซิสโก้ (Cisco) และ ซิทริกซ์ (Citrix) ที่เปิดช่องให้เกิดการโจมตีทางไซเบอร์ต่อระบบของบริษัทหลายแห่งในสหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ เม็กซิโก ซาอุดิอาระเบีย สิงคโปร์ และอีกหลายต่อหลายประเทศ
อย่างไรก็ดี ไฟร์อาย อิงค์ กล่าวว่า มีเหตุผลหลายข้อที่อาจอธิบายการพุ่งขึ้นของสถิตินี้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน เกี่ยวกับประเด็นการค้าและการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่
หลังรายงานชิ้นนี้ออกมาสู่สาธารณะ กระทรวงการต่างประเทศของจีนไม่ได้มีความเห็นตอบโต้ใดๆ แต่ระบุว่า จีนเองตกเป็นเหยื่อของการจารกรรมข้อมูลและการโจมตีทางไซเบอร์เช่นกัน ซึ่งทางสหรัฐฯ ก็ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้