ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต ชิลเลอร์ จากมหาวิทยาลัยเยล ผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับทางสถานีโทรทัศน์ ซีเอ็นบีซี แสดงทัศนะถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ ทั้งประเด็นราคาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองมีแนวโน้มลดลง และวิกฤติเชิงจิตวิทยาหากเกิดการระบาดซ้ำระลอกสอง
ศาสตราจารย์ ชิลเลอร์ คาดการณ์ว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่เขตเมืองอาจมีแนวโน้มลดลง ถ้าแรงงานส่วนใหญ่สามารถทำงานได้จากที่บ้านโดยไม่ต้องเดินทางเข้าเมืองอีกต่อไป นอกจากนี้เขาเห็นว่า หากการไปรับประทานอาหารนอกบ้าน เข้าโรงหนัง หรือเดินพิพิธภัณฑ์ เป็นข้อจำกัดในแนวคิดเรื่องรักษาระยะห่างทางสังคม สิ่งนี้อาจจะผลักดันที่ทำให้คนเมืองเลือกไปใช้ชีวิตในพื้นที่ไม่แออัดมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี เขาบอกว่ามันอาจจะเร็วไปที่จะกล่าวว่าเป็นการหมดยุคของสังคมเมือง โดยเขาอ้างอิงเหตุการณ์เมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ตอนนั้นนวัตกรรมอย่างโทรศัพท์เริ่มเป็นที่แพร่หลาย หลายคนเคยคิดว่าสังคมเมืองจะหายไป เพราะคนสามารถสื่อสารกันได้แม้อยู่ทางไกล แต่สุดท้ายก็พบว่าความคิดนี้ไม่เป็นจริง เพราะมนุษย์ยังชอบที่จะอยู่รวมกลุ่มกัน
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ชิลเลอร์ ยังเห็นว่า หากเกิดการระบาดระลอกที่สองของโควิด-19 สิ่งนี้จะส่งผลเชิงจิตวิทยากับสังคมในประเทศสหรัฐฯ ที่รุนแรงกว่าการระบาดในช่วงแรก
เขากล่าวว่า “สิ่งนี้จะหล่อหลอมวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากปีก่อนหน้า คนจะไม่สนใจในแฟชั่น ไม่ต้องการรถคันใหม่ เราจะเรียนรู้การอยู่แบบไม่ไขว่คว้า แต่มันจะส่งผลเชิงลบกับภาคเศรษฐกิจ”
อ้างอิงข้อมูลจากดัชนีราคาบ้าน S&P CoreLogic (S&P CoreLogic Case-Shiller U.S. National Home Price Index) พบว่าราคาบ้านใน 19 เมืองใหญ่ทั่วประเทศสหรัฐฯ ปรับตัวได้เป็นอย่างดีท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 โดยราคาช่วงเดือนเมษายนปีนี้ มีการปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อีกทั้งตลาดหุ้นที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น
แต่ศาสตราจารย์ ชิลเลอร์ เห็นว่าทั้งหมดนี้เป็นผลจากการพยุงโดยภาครัฐผ่านการอัดฉีด 2.3 ล้านล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบ รวมถึงมาตรการจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่พยายามตรึงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำจนเกือบจะเป็นศูนย์ ศาสตราจารย์ท่านนี้ยังมองว่าตัวเลขของผู้ว่างงานที่เพิ่มขึ้นกำลังสร้างความไม่แน่นอนอย่างมากต่ออนาคตของเศรษฐกิจโดยรวม
ในอดีตนั้น ศาสตราจารย์ ชิลเลอร์ เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ออกมาแสดงวิสัยทัศน์ในเรื่องการทรุดตัวของราคาอสังหาริมทรัพย์ในยุคฟองสบู่ช่วงปี พ.ศ.2550 และ พ.ศ.2551ได้อย่างแม่นยำ เขาย้ำว่าโลกปัจจุบันที่เราอยู่ หลายสิ่งกำลังปรับให้เป็นออนไลน์และเรากำลังทดลองใช้ชีวิตในรูปแบบที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะด้านการทำงาน