นักวิเคราะห์ด้านเอเชียมองว่าสหรัฐฯ กับจีนอาจใช้ประโยชน์จากการหารือระดับผู้นำเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในเรื่องซึ่งไม่เป็นที่โต้แย้งมากนัก เช่น ความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและการแลกเปลี่ยนผู้สื่อข่าว แต่จะชะลอการตัดสินใจในประเด็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าออกไป เช่น ความตึงเครียดทางทหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จนกว่าความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองจะกระเตื้องขึ้น
ทั้งนี้ตามความเห็นของอาจารย์ Carl Thayer ศาสตราจารย์กิตติคุณที่มหาวิทยาลัย New South Wales ของออสเตรเลีย
ขณะนี้สหรัฐฯ มองจีนว่าเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ในเวลาที่ปักกิ่งกำลังพยายามขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการทหารนอกอาณาเขตของตน และในปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศทั้งสองมูลค่าราว 5 แสน 5 หมื่นล้านดอลลาร์ก็ถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าเมื่อปี 2018 ในสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์ ด้วย
ส่วนประเด็นเรื่องข้อมูลและความลับด้านเทคโนโลยีก็เป็นข้อโต้แย้งที่สำคัญพอๆ กับเรื่องการทหารเช่นกัน หลังจากที่ทั้งสองประเทศได้ส่งเรือรบเข้าไปปฏิบัติงานในทะเลจีนใต้และในบริเวณช่องแคบไต้หวัน นอกจากนั้นสหรัฐฯ ก็เพิ่งจะเสร็จสิ้นการซ้อมรบร่วมกับญี่ปุ่นเรื่องการต่อต้านเรือดำน้ำในทะเลจีนใต้และได้หารือกับฟิลิปปินส์เกี่ยวกับข้อพิพาทขัดแย้งในทะเลจีนใต้ด้วย
นอกจากนั้นในด้านการเมือง วอชิงตันจะจัดการประชุมกับผู้นำจากราว 100 ประเทศทั่วโลกระหว่างวันที่ 9 - 10 ธันวาคมนี้ซึ่งวาระของการประชุมจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการส่งเสริมประชาธิปไตยและการต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการเพื่อมุ่งหาแนวร่วมที่จะต้านอิทธิพลของจีน
ส่วนนักวิเคราะห์อีกคนหนึ่งคือนาย Yun Sun ผู้อำนวยการร่วมของศูนย์เอเชียตะวันออกที่ Stimson Center ในกรุงวอชิงตันก็กล่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีไบเดนอาจประกาศคว่ำบาตรทางการทูตสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในประเทศจีนในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าด้วย โดยเขาได้อ้างจากรายงานความเห็นในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ฉบับเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา