ในขณะที่ธุรกิจต่าง ๆ ในอเมริกากำลังกลับมาเปิดบริการอีกครั้งหลังจากล็อคดาวน์ ร้านค้าและร้านอาหารหลายแห่งได้ใช้วิธีให้ลูกค้าและพนักงานลงชื่อในเอกสารว่าจะไม่ฟ้องร้องทางร้านในกรณีติดเชื้อโควิด-19
บรรดาห้างร้านต่างเป็นกังวลว่าจะตกเป็นเป้าหมายของการดำเนินคดี แม้ว่าได้ทำตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ แล้วก็ตาม
แต่องค์กรสิทธิแรงงานต่าง ๆ ระบุว่า การบังคับให้ลูกจ้างลงนามในเอกสารดังกล่าวนั้นถือเป็นการลิดรอนสิทธิของลูกจ้างในกรณีที่ล้มป่วยลง
เอกสารสละสิทธิในการเรียกร้องความรับผิดชอบ หรือ liability waiver นี้จะเป็นการปกป้องภาคธุรกิจในรัฐที่ไม่มีการจำกัดการเรียกค่าเสียหายจากคดีที่เกี่ยวข้องกับโคโรนาไวรัส ซึ่งขณะนี้มีอย่างน้อย 5 รัฐ ที่มีมาตการจำกัดการฟ้องร้องดังกล่าว ได้แก่ ยูทาห์ นอร์ธแคโรไลนา โอกลาโฮมา อาร์คันซอ และแอละบามา
เอกสารดังกล่าวยังถูกนำมาใช้ในการจัดกิจกรรมหาเสียงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่รัฐโอกลาโฮมา เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
แต่นักวิจารณ์แย้งว่า เอกสาร liability waiver อาจเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจสามารถหลบเลี่ยงความรับผิดชอบเรื่องการจัดหามาตรการความปลอดภัยสำหรับลูกค้าและพนักงานได้โดยไม่ต้องถูกลงโทษ เช่น การจัดหาหน้ากากและอุปกรณ์ป้องกันสำหรับลูกจ้าง หรือการกำหนดให้ลูกค้าต้องเว้นระยะห่างจากกัน
ซึ่งถือว่าไม่ยุติธรรมสำหรับลูกจ้างที่บางครั้งไม่มีทางเลือกมากนักเพราะอาจเสี่ยงต่อการตกงานด้วยข้ออ้างว่าไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของนายจ้างเรื่องการลงนามในเอกสารดังกล่าว แตกต่างจากลูกค้าที่ยังสามารถปฏิเสธการซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านนั้น ๆ ได้
นักวิจารณ์บอกด้วยว่า ที่แย่ไปกว่านั้นคือบางรัฐจะไม่ให้สิทธิประโยชน์ชดเชยการว่างงานแก่ลูกจ้างที่ไม่ยอมลงชื่อในเอกสารสละสิทธิในการเรียกร้องความรับผิดชอบของนายจ้าง โดยกลุ่มคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันและเชื้อสายละตินคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการหลายคน รวมทั้งอาจารย์จอห์น โวโลฮาน แห่งมหาวิทยาลัย Syracuse เชื่อว่า เอกสาร liability waiver คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ภาคธุรกิจในสหรัฐฯ สามารถกลับมาเปิดธุรกิจได้อีกครั้งอย่างมั่นใจว่าจะไม่ถูกฟ้องร้องในกรณีที่มีลูกค้าติดเชื้อโคโรนาไวรัส ไม่ว่าจะมาจากธุรกิจนั้นหรือไม่ก็ตาม
และเนื่องจากสถานการณ์การระบาดนี้เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผู้เชี่ยวชาญจึงเชื่อว่าการฟ้องร้องในคดีที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 จะขึ้นอยู่กับการตีความกฎหมายของศาลในรัฐนั้น ๆ ว่าจะครอบคลุมแค่ไหน
จนถึงขณะนี้ มีการฟ้องร้องในคดีความที่เกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด-19 แล้วมากกว่า 2,700 คดีในสหรัฐฯ ในจำนวนนี้มี 7 คดีที่มีผู้บริโภคเป็นผู้ยื่นฟ้อง และ 49 คดีที่ลูกจ้างฟ้องร้องนายจ้าง