เมื่อวันจันทร์ สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศตะวันตกอื่นๆ ซึ่งรวมถึงอังกฤษ สหภาพยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และองค์การนาโต้ กล่าวโทษจีนว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีทางไซเบอร์เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ที่ส่งผลกระทบถึงธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ นับหมื่นแห่งซึ่งใช้คอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ Microsoft Exchange โดยอาศัยกลุ่มอาชญากรแฮคเกอร์เป็นเครื่องมือบังหน้า
และประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่าตนจะได้รับรายงานโดยละเอียดในวันอังคารเกี่ยวกับบทบาทความเกี่ยวข้องจากหน่วยงานข่าวกรองของจีนที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีทางไซเบอร์ทั่วโลกดังกล่าว โดยเฉพาะการใช้ ransom ware เพื่อเรียกค่าไถ่จากธุรกิจอเมริกัน
ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรในโลกตะวันตกอื่นๆ ได้กล่าวหากระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐของจีนโดยระบุว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ว่านี้อาศัยกลุ่มอาชญากรแฮ็คเกอร์เป็นเครื่องมือเพื่อโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ทั่วโลก ซึ่งกลุ่มแฮ็คเกอร์ดังกล่าวก็ได้รับประโยชน์จากปฎิบัติการของตนเป็นค่าตอบแทนด้วย
และในวันนี้คือวันจันทร์ ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวด้วยว่าตนเข้าใจว่ารัฐบาลจีนก็ไม่ต่างจากรัฐบาลรัสเซียซึ่งไม่ได้ลงมือทำเรื่องนี้ด้วยตนเองแต่มีการดำเนินงานในลักษณะที่ให้ความปกป้องคุ้มครองกลุ่มแฮ็คเกอร์ผู้ลงมือปฏิบัติรวมทั้งยังอาจช่วยอำนวยความสะดวกให้ด้วย
คำกล่าวหาจากรัฐบาลสหรัฐฯและกลุ่มประเทศตะวันตกเรื่องการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งรัฐบาลจีนมีส่วนร่วมรู้เห็นอยู่นี้มีขึ้นขณะที่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ตั้งข้อหาพลเมืองจีนสี่คน โดยสามคนเป็นเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงและอีกหนึ่งคนเป็นแฮ็คเกอร์ผู้รับจ้าง เรื่องการโจมตีและการเจาะล้วงระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทธุรกิจ มหาวิทยาลัย และหน่วยงานรัฐบาลทั้งของสหรัฐฯ และในประเทศอื่นๆ
อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการประกาศใช้มาตรการลงโทษใดๆ ต่อประเทศจีน
ทางด้านจีน สถานทูตจีนที่กรุงวอชิงตันไม่ได้ตอบสนองต่อคำขอความเห็นในเรื่องนี้แต่จีนได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้องตลอดมา และก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่จีนได้เคยกล่าวว่าจีนก็ตกเป็นเหยื่อของการเจาะล้วงระบบคอมพิวเตอร์รวมทั้งต่อต้านการโจมตีทางไซเบอร์ในทุกรูปแบบเช่นกัน
การเปิดเผยข้อมูลจากสหรัฐฯ เรื่องการร่วมรู้เห็นเป็นใจของรัฐบาลจีนในการโจมตีทางไซเบอร์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการโจมตีคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ Microsoft Exchange สำหรับอีเมลเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ซึ่งส่งผลกระทบถึงองค์กรและผู้ใช้หลายหมื่นรายทั่วโลก โดยแฮ็คเกอร์ได้อาศัยจุดอ่อนของระบบที่เรียกกันในภาษาคอมพิวเตอร์ว่า zero-day attack ก่อนที่ผู้บริหารระบบจะทราบและเผยแพร่ซอฟต์แวร์เพื่อแก้ไขจุดอ่อนเหล่านี้
และในวันจันทร์ หน่วยงานด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ รวมทั้งเอฟบีไอได้ออกคำแถลงร่วมว่าได้สังเกตุเห็นการโจมตีทางไซเบอร์ซึ่งมีความก้าวหน้าทันสมัยมากขึ้นโดยกลุ่มที่ได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลจีนที่มุ่งเป้าต่อองค์กรทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร การศึกษา รวมทั้งหน่วยงานด้านโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ
นอกจากนั้นสำนักข่าวรอยเตอร์ยังรายงานด้วยว่าวัตถุประสงค์ของการโจมตียังรวมถึงการเจาะล้วงข้อมูลที่ละเอียดอ่อนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและทรัพย์สินทางปัญญา อย่างเช่น ข้อมูลด้านเภสัชกรรม ในหลายประเทศทั่วโลกนับตั้งแต่สหรัฐ อังกฤษ แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไปจนถึงกัมพูชา เช่นกัน
ที่มา: VOA, Reuters