องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ได้อนุมัติให้ใช้หมูที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมเป็นอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ได้
ทั้งนี้ หมูจะได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อกำจัดน้ำตาลที่พบบนพื้นผิวของเซลล์ในสัตว์หลายๆ ชนิด น้ำตาลที่เรียกว่า alpha-gal นั้นอาจทำให้บางคนเกิดอาการแพ้ได้ สารดังกล่าวนี้ถูกนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์หลายๆ ชนิดรวมไปถึงยา อาหาร และเครื่องสำอางด้วย
Dewey Steadman โฆษกของบริษัทผู้ดัดแปลงพันธุกรรมหมู United Therapeutics Corporation กล่าวว่า ทางบริษัทมีแผนที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เช่น ยาเจือจางเลือด ที่ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ นอกจากนี้ยังมีแผนวางขายหมู GalSafe เพื่อใช้เป็นอาหาร แต่ก็ยังไม่ทราบว่าทางบริษัทจะสามารถทำข้อตกลงกับผู้ผลิตเนื้อสัตว์แปรรูปและจะสามารถวางขายได้เมื่อไหร่
Steadman ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การแพ้เนื้อหมูนั้นยังไม่ถือเป็นปัญหาหลัก เพราะแม้ว่ามีอยู่ แต่ก็ไม่ได้มีมากนั้น ซึ่งนักวิจัยด้านสุขภาพยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าอาการแพ้เนื้อหมูนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ก็มีการนำไปเชื่อมโยงกับการถูกเห็บบางชนิดกัด
ในปี ค.ศ. 2009 มีรายงานว่ามีผู้แพ้เนื้อหมู 24 ราย แต่การประเมินครั้งล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขและบริการประชาชนของสหรัฐฯ พบว่ามีผู้แพ้เนื้อหมูมากกว่า 5,000 ราย
อาการแพ้ alpha-gal นั้นต่างจากการแพ้อาหารอื่นๆ โดยปกติแล้วจะเกิดขึ้นเป็นเวลาหลายชั่วโมงหลังจากที่รับประทานเนื้อวัว เนื้อหมู หรือเนื้อแกะ เข้าไปซึ่งทำให้ยากต่อการแยกแยะ
Jaydee Hanson เป็นผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของ Center for Food Safety กล่าวกับ The Associated Press ว่าเนื้อจากหมูที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมนั้นไม่ได้ถูกนำไปทดสอบในผู้ที่มีอาการของโรคภูมิแพ้ ซึ่งทางศูนย์ได้ยื่นฟ้อง FDA ในเรื่องการอนุมัติให้ใช้ปลาแซลม่อนที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้โตเร็วขึ้นเป็นอาหารได้ และในตอนนี้จะต้องตรวจสอบเรื่องการอนุมัติหมู GalSafe ของ FDA ซึ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา
Greg Jaffe แห่งศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์สาธารณะบอกกับสำนักข่าว AP ว่าการอนุมัติหมู GalSafe ของ FDA นั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะเป็นการอนุมัติโดยที่สาธารณชนไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น และไม่มีการกล่าวแจ้งใดๆ ทั้งสิ้น
และว่าทางบริษัท United Therapeutics ไม่ได้อธิบายถึงกระบวนการที่แน่นอนในการดัดแปลงพันธุกรรมสัตว์ เพียงแต่บอกว่าหมูถูกผลิตขึ้นโดยการเอายีนที่ผลิตน้ำตาลออกและเพิ่มยีนอีกตัวเข้าไปซึ่งหน้าที่เป็นตัวบ่งชี้ยีนตัวที่ถูกปิดสวิตช์ไป นอกจากนี้แล้ว Jaffe ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเขาไม่ทราบว่าจะมีกฎให้ติดฉลากระบุว่าเป็นเนื้อหมูที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมในเวลาที่วางขายในร้านค้าหรือไม่
Steadman จาก United Therapeutics Corporation กล่าวว่าหมูของทางบริษัทนี้จะผลิตได้ยากกว่าหมูอื่นๆ ในเรื่องของการใช้เนื้อหมู เนื่องจากข้อกำหนดที่ครอบคลุมถึงวิธีการเก็บรักษาและการฆ่าหมู และว่าในขณะนี้มีหมู GalSafe อยู่ประมาณ 25 ตัวที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในรัฐไอโอวา
เขากล่าวอีกว่าหนึ่งในเป้าหมายระยะยาวของทางบริษัท คือการผสมผสานการดัดแปลงพันธุกรรมเข้ากับการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ เพื่อทำให้อวัยวะของสัตว์เป็นที่ยอมรับในการใช้ปลูกถ่ายในมนุษย์ หลายปีที่ผ่านมานักวิจัยได้ศึกษาแนวคิดในการปลูกถ่ายอวัยวะหมูเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะของมนุษย์ที่ได้รับบริจาคอีกด้วย