ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรเตือนทั่วโลก รัสเซียอาจโจมตีทางไซเบอร์ 


FILE - A cybersecurity worker develops computer code in an office in Moscow, Russia, Oct. 25, 2017. The U.S. and allies are bracing for the possibility that a Russian invasion of Ukraine would have a ripple effect in cyberspace.
FILE - A cybersecurity worker develops computer code in an office in Moscow, Russia, Oct. 25, 2017. The U.S. and allies are bracing for the possibility that a Russian invasion of Ukraine would have a ripple effect in cyberspace.

สหรัฐฯ และชาติตะวันตกเตรียมรับมือการโจมตีทางไซเบอร์หากรัสเซียบุกรุกยูเครนจริง แม้ว่าระบบคอมพิวเตอร์ของชาติตะวันตกอาจไม่ได้เป็นเป้าหมายของการโจมตีครั้งนี้ก็ตาม

ลิซา โมนาโค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กล่าวระหว่างการประชุมออนไลน์ด้านความมั่นคงไซเบอร์มิวนิคเมื่อวันพฤหัสบดีว่า เธอกังวลถึงประเด็นดังกล่าวอย่างมาก โดยเธอยกตัวอย่างถึงไวรัส “NotPetya” ที่สร้างขึ้นโดยหน่วยข่าวกรอง GRU ของกองทัพรัสเซีย

ไวรัสดังกล่าวมุ่งโจมตีที่เว็บไซต์บัญชีของยูเครน อย่างไรก็ตาม ไวรัสตัวนี้ก็แพร่ระบาดไปยังเว็บไซต์บริษัทอื่นทั่วโลก รวมถึงบริษัทขนส่งยักษ์ใหญ่อย่าง เมอส์ก (Maersk) ของเดนมาร์ก และเฟดเอกซ์ (FedEx) ของสหรัฐฯ โดยโมนาโคระบุว่า บริษัทต่างๆ ต้องเตรียมตัวสูงสุดตั้งแต่ตอนนี้

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ผู้นี้ ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนแรกที่เตือนเรื่องภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจเป็นผลกระทบจากการกระทำของรัสเซียในทางที่คาดไม่ถึง

ส่วน คริส อิงลิส ผู้อำนวยการไซเบอร์แห่งชาติของสหรัฐฯ ก็กล่าวเมื่อช่วงต้นเดือนเช่นกันว่า การที่ไวรัส “หลุดรอดออกจากที่กักเก็บ” เคยสร้างผลกระทบทางไซเบอร์จากการโจมตีของรัสเซียมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งส่งผลไปทั่วทั้งยุโรปและสหรัฐฯ

เจ้าหน้าที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ ระบุว่า แม้ว่าจะยังไม่มีภัยคุกคามที่บ่งชี้ชัดเจนว่า จะมีการโจมตีทางไซเบอร์มายังสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ ก็ร่วมมือกับยูเครนและชาติพันธมิตรอื่นๆ เพื่อป้องกันภัยไว้ก่อนแล้ว

โรเบิร์ต ซิลเวอร์ซ รองรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ กล่าวว่า รัสเซียเคยแสดงความประสงค์ที่จะใช้วิธีทางไซเบอร์เพื่อบรรลุผลทางภูมิรัฐศาสตร์มาก่อนหน้านี้แล้ว โดยยกตัวอย่างถึงเหตุการณ์ที่รัสเซียโจมตีแหล่งผลิตไฟฟ้าของยูเครนเมื่อปีค.ศ. 2015

ทางด้านแจค ทาเรียน ผู้อำนวยการของศูนย์ Cooperative Cyber Defense Center of Excellence ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ มองว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ไม่ได้มีเป้าหมายสูงสุดที่ยูเครน และผู้นำรัสเซียน่าจะพุ่งเป้าให้ชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ขัดแย้งกันเองจนขาดความเป็นเอกภาพมากกว่า ซึ่งการโจมตีทางไซเบอร์ดูเป็นวิธีที่จะได้ผลดี

หน่วยงานของสหรัฐฯ ต่างกังวลเช่นกันว่า รัสเซียอาจเพิ่มปฏิบัติการทางไซเบอร์มากขึ้น ขณะที่ความตึงเครียดมีมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อวันพุธ สำนักงานความมั่นคงทางอินเทอร์เน็ตและโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ, สำนักงานสืบสวนกลางของสหรัฐฯ และสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ออกคำเตือนร่วมกัน โดยระบุว่า ผู้ก่อเหตุที่เกี่ยวโยงกับรัสเซียอาจใช้วิธีการต่างๆ เพื่อโจมตีบริษัทคู่สัญญาของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์บางส่วนก็เห็นว่า รัสเซียอาจไม่ได้มุ่งโจมตีชาติตะวันตกทางไซเบอร์ แม้ว่าสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรจะระบุว่า จะใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจอย่างหนักหากรัสเซียบุกรุกยูเครนก็ตาม

ดมิทริ อัลเพโรวิช อดีตประธานด้านเทคโนโลยีของบริษัทความมั่นคงด้านไซเบอร์ CrowdStrike เชื่อว่า การโจมตีทางไซเบอร์ไม่น่าจะเป็นวิธีการตอบโต้แรกๆ เนื่องจากรัสเซียมีวิธีการอื่นๆ อีกมากในการตอบโต้ เช่น การควบคุมการส่งออกแร่อะลูมิเนียม ยูเรเนียม ไทเทเนียม แพลเลเดียม และแร่อื่นๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกได้อย่างมาก

อัลเพโรวิชยังเตือนด้วยว่าา รัสเซียอาจปล่อยให้อาชญากรไซเบอร์ทำหน้าที่ดังกล่าวแทน โดยอาจปล่อยตัวนักเขียนโปรแกรมเรียกค่าไถ่ทางไซเบอร์ที่ถูกจับกุมออกจากเรือนจำในช่วงอีกไม่กี่สัปดาห์นี้

  • รายงานโดย ผู้สื่อข่าววีโอเอ Jeff Seldin
XS
SM
MD
LG