มหานครนิวยอร์กเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีตึกหนาแน่น ดังนั้นการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จึงมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่กว้างซึ่งมีน้อย สำหรับการสร้างลานติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีคนจำนวนมากขึ้นใช้พื้นที่ดาดฟ้าของตึกสูงเป็นแหล่งผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ ความริเริ่มลักษณะนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้นครนิวยอร์กลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระดับเมื่อปี ค.ศ. 2005 ลงมาร้อยละ 80 ภายใน ค.ศ. 2050 หรือ 33 ปีจากนี้
มาร์ค แชมเบอรส์ (Mark Chambers) ผู้อำนวยการสำนักงานนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า พื้นที่บนชั้นดาดฟ้าของตึกในนิวยอร์กเป็นจุดแข็งของเมืองที่ยังไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการผลิตพลังงานสะอาดเท่าที่ควร
เนื่องจากคนจำนวนไม่น้อยยังไม่สามารถนำประโยชน์จากแสงอาทิตย์มาผลิตพลังงานมาใช้ เพราะข้อจำกัดเรื่องการติดตั้ง บริษัทเอกชนอย่างเช่น Solstice จึงพัฒนาแผนธุรกิจขึ้นมาให้บริการด้านนี้
สเต็ฟ สเปียรส์ (Steph Speirs) ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Solstice กล่าวว่า ธุรกิจของบริษัทคือการทำให้เกิดการแบ่งปันไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เธอบอกว่าลูกค้าไม่ต้องห่วงเรื่องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนดาดฟ้าของตน เพราะบริษัทมีพื้นที่ลานผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ “โซลาร์ฟาร์ม” และจัดสรรเพื่อขายให้ผู้สนใจร่วมกันเป็นเจ้าของ โดยวิธีนี้ทำให้คนที่อยู่ในย่านเดียวกันร่วมหุ้นกันเป็นเจ้าของได้
บริษัทของเธอร่วมหุ้นกับเจ้าของโซลาร์ฟาร์มในรัฐแมสซาชูเสทส์ และรัฐนิวยอร์ก เพื่อเพิ่มการเข้าถึงพลังงานแสงอาทิตย์
ซีอีโอของ Solstice ผู้นี้กล่าวว่า ผู้ใช้พลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์จะได้รับประโยชน์จากโครงการลดหย่อนค่าไฟจากการใช้พลังงานสะอาด
มิเกล รอดริเกซ (Miguel Rodriguez) ผู้ซึ่งเติบโตมาในโครงการบ้านเพื่อชุมชนในนครนิวยอร์ก ปัจจุบันเขาทำงานในโครงการ Green City Force กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้ความรู้กับและฝึกฝนทักษะให้กับคนรายได้ต่ำที่อายุน้อย ให้สามารถทำงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนได้
ปัจจุบันเจ้าหน้าที่นครนิวยอร์กขอให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนดาดฟ้าของตึกที่อยู่อาศัยเพื่อชุมชน 14 แห่ง
หากโครงการสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ครัวเรือนของผู้มีรายได้ระดับกลางและต่ำมากถึง 6,600 แห่ง จะได้รับพลังงานที่ผลิตจากแสงอาทิตย์ร้อยละ 25 ของไฟฟ้าที่ใช้ ภายใน 8 ปีจากนี้
ทางการนครนิวยอร์กให้ผู้พัฒนาพื้นที่ “โซลาร์ฟาร์ม” เช่นดาดฟ้าของตึกที่เป็นของการเคหะของเมืองเป็นเวลา 25 ปี เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Tina Trinh)