การเจรจาความร่วมมือเอเซีย Asia Corporation Dialogue (ACD) เกิดขึ้นโดยการผลักดันของรัฐบาลไทยสมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป้าหมายเพื่อเป็นกรอบความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคเอเซียในด้านต่างๆโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจและพลังงาน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองบนเวทีโลก การประชุม ACD ครั้งแรกมีขึ้นเมื่อ 9 ปีที่แล้วที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และครั้งที่ 2 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะการเจรจาของ ACD เน้นการหารืออย่างไม่เป็นทางการและไม่มีวาระการประชุมตายตัว
ปัจจุบัน ACD มีประเทศสมาชิก 31 ประเทศรวมถึงประเทศในกลุ่มอาเซียนและประเทศเศรษฐกิจใหญ่ๆในเอเซียเช่น จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น สำหรับการเจรจา ACD ระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นครนิวยอร์คในวันที่ 20 กันยายน มีผู้แทนจากไทยที่เข้าร่วมการเจรจาคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ซึ่งภายหลังการเจรจา รัฐมนตรีสุรพงษ์ได้แถลงต่อผู้สื่อข่าวถึงรายละเอียดการเจรจา ACD ครั้งนี้
รัฐมนตรีสุรพงษ์ชี้แจงว่าประเด็นสำคัญที่นำมาพูดกันระหว่างการร่วมรับประทานอาหารเช้า คือเรื่องของความเชื่อใจและความร่วมมือในหมู่ประเทศสมาชิกเพื่อผลักดันให้ ACD มีบทบาทมากขึ้นบนเวทีโลก
นอกจากนี้ ผู้แทนประเทศมาชิกบางประเทศยังต้องการให้ ACD มีการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น
ภายหลังการเจรจาความร่วมมือเอเซียจบลง รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยได้พบปะสนทนาแบบทวิภาคีกับรัฐมนตรีต่างประเทศมองโกเลีย สาระสำคัญของการพูดคุยมุ่งเน้นที่เรื่องเศรษฐกิจและการเมือง
รัฐมนตรีสุรพงษ์ยังบอกด้วยว่ามองโกเลียต้องการเรียนรู้ระบอบประชาธิปไตยจากประสบการณ์การเมืองของไทยด้วย รัฐมนตรีต่างประเทศนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แถลงต่อผู้สื่อข่าวหลังการเจรจาความร่วมมือเอเซีย Asia Corporation Dialogue (ACD) ระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติวันที่ 2 ที่นครนิวยอร์ค โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยมีกำหนดจะขึ้นกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในวันที่ 27 กันยายนนี้