เราทราบกันดีว่า การออกกำลังกายช่วยให้ชีวิตยืนยาวขึ้นได้ แต่งานวิจัยชิ้นใหม่จาก Cleveland Clinic ในสหรัฐฯ ไปไกลกว่านั้น โดยค้นพบว่า ‘การไม่ออกกำลังกาย’ อาจให้ผลร้ายมากกว่าการสูบบุหรี่ หรือเป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจเสียอีก
การวิจัยเรื่องผลของการ “ไม่ออกกำลังกาย” จัดทำขึ้นโดยนักวิจัยที่โรงพยาบาล Cleveland Clinic ในรัฐโอไฮโอ โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง 122,000 คน ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มาใช้บริการลู่วิ่งออกกำลังกายที่โรงพยาบาลดังกล่าว ระหว่างปี ค.ศ. 1991 ถึง 2014
นักวิจัยได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยต่างๆ รวมทั้งอัตราและสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยบางส่วน เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลการออกกำลังกายของผู้ป่วยเหล่านั้น
โดยสิ่งที่ทำให้งานวิจัยชิ้นนี้แตกต่างจากรายงานชิ้นอื่นๆ คือ นักวิจัยใช้ข้อมูลจริงจากการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกายของกลุ่มตัวอย่างจริงๆ นั่นคือการให้วิ่งบนสายพานหรือลู่วิ่งเทรดมิลล์ ซึ่งไม่ใช่การให้กลุ่มตัวอย่างกรอกข้อมูลด้วยตัวเอง
ในผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในสารวาร JAMA Network Open เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายแพทย์วาเอล แจเบอร์ (Dr.Wael Jaber) ผู้ร่วมจัดทำรายงาน ระบุว่า “ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย หรือมีสภาพร่างกายที่ไม่ฟิต มีโอกาสเสียชีวิตเทียบเท่าหรือมากกว่าผู้ที่สูบบุหรี่ หรือผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน เสียอีก”
รายงานยังพบด้วยว่า ผู้ที่ขาดการออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือ ‘ไม่ฟิต’ มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยโรคไตถึง 2 เท่า และความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่สูบบุหรี่
และหากเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่ออกกำลังกายเป็นประจำมากที่สุดแล้ว พบว่า ผู้ที่ไม่ออกกำลังกายมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงกว่าถึง 5 เท่า
ที่สำคัญ ความเสี่ยงที่ว่านี้มิได้จำกัดอยู่กับอายุหรือเพศ นั่นหมายความว่า ทุกเพศทุกวัยสามารถได้รับประโยชน์จากการออกกำลังกายได้เท่าเทียมกัน
รายงานยังบอกด้วยว่า การออกกำลังกายในทุกระดับสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ โดยไม่มีข้อจำกัดว่าหากออกกำลังกายหนักเกินไปอาจเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี
ด้านนายแพทย์จอร์แดน เม็ตซ์ล (Dr.Jordan Metzl) แห่งฝ่ายเวชศาสตร์การกีฬาของโรงพยาบาลแห่งนี้ ชี้ว่า “โรคเบาหวานและโรคหัวใจ ถือว่าเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายมากที่สุด ในแต่ละปีต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาสองโรคนี้เฉพาะในสหรัฐฯ สูงถึง 200,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการกระตุ้นให้ผู้ป่วยและคนทั่วไปออกกำลังกายมากขึ้น จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้มหาศาล”
นักวิจัยระบุส่งท้ายว่า “การขาดการออกกำลังกายนั้น ควรถูกระบุว่าคล้ายอาการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องการใบสั่งยาจากแพทย์ ก็คือคำสั่งให้ไปออกกำลังกายนั้นเอง”
(ทรงพจน์ สุภาผล รายงานจาก CNN)