ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหรัฐฯ – ดินแดนแห่งความหวังและความผิดหวังของผู้ตามล่าฝันจากเอเชีย


แฟ้มภาพ - กลุ่มผู้อพยพที่มีหลายคนมาจากจีน กำลังเดินข้ามพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก เพื่อขอลี้ภัย เมื่อ 24 ต.ค. 2566
แฟ้มภาพ - กลุ่มผู้อพยพที่มีหลายคนมาจากจีน กำลังเดินข้ามพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก เพื่อขอลี้ภัย เมื่อ 24 ต.ค. 2566

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้อพยพเข้าสหรัฐฯ โดยผิดกฎหมายพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะกลุ่มที่มาจากอินเดียและจีนที่มีเหตุผลในการทิ้งบ้านเกิดซึ่งทั้งคล้ายและต่างกันบ้าง แต่ล้วนหวังที่จะได้ชีวิตที่ดีขึ้นในประเทศนี้ แต่เส้นทางและจุดสิ้นสุดของแต่ละคนก็ไม่ได้จบลงในแบบที่ตนเองหวังไว้เสมอ

นับตั้งแต่การระบาดเป็นวงกว้างของโควิด-19 คลี่คลายลง จำนวนผู้อพยพทั่วโลกก็พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในส่วนของผู้ที่เลือกมุ่งหน้ามาสหรัฐฯ นั้น ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า น่าจะเป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ถูกมองว่า เปิดกว้างและยอมรับผู้ลี้ภัยมากกว่า

ชีรัก พาเทล ทนายความด้านกฎหมายคนเข้าเมือง และผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ เชื่อด้วยว่า จำนวนผู้ลี้ภัยเข้าสหรัฐฯ ตามชายแดนต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะหลายคนกลัวว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายของสหรัฐฯ อีกครั้งหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน

อินเดีย: ฝันว่าสหรัฐฯ จะนำมาซึ่งความมั่งคั่งในชีวิตยิ่งกว่า

ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรและการป้องกันชายแดนของสหรัฐฯ (CBP) ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2023 เจ้าหน้าที่ประจำพรมแดนทั่วสหรัฐฯ บันทึกตัวเลขผู้อพยพสัญชาติอินเดียที่พยายามหนีเข้าสหรัฐฯ โดยผิดกฎหมายได้ถึงเกือบ 97,000 คน ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับสถิติ 2,225 คนในปี 2021

ก่อนหน้านี้ ผู้อพยพจากอินเดียส่วนใหญ่มักหาทางลักลอบเข้าประเทศผ่านเม็กซิโก จนกระทั่งสถานการณ์ที่บริเวณชายแดนทางใต้ของสหรัฐฯ เริ่มตึงเครียดหนัก จนทำให้มีบางส่วนเลือกอ้อมไปเดินทางผ่านแคนาดามากขึ้นเรื่อย ๆ

ข้อมูลระหว่างเดือนตุลาคมของปีที่แล้วและเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้แสดงให้เห็นว่า ชาวอินเดียที่หลบหนีเข้าสหรัฐฯ ผ่านพรมแดนทางเหนือเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 14,000 คน เมื่อเทียบกับระดับ 619 คนที่บันทึกได้ในช่วงเดียวกันของ 2 ปีก่อน

แฟ้มภาพ - หินหลักบอกจุดขัามแดนสหรัฐฯ-แคนาดา บนถนนร็อกซ์แฮม รัฐนิวยอร์ก เมื่อ 26 ก.พ. 2560
แฟ้มภาพ - หินหลักบอกจุดขัามแดนสหรัฐฯ-แคนาดา บนถนนร็อกซ์แฮม รัฐนิวยอร์ก เมื่อ 26 ก.พ. 2560

การหลั่งไหลเข้ามาอย่างหนักของผู้อพยพผ่านแคนาดาทำให้เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงตามแนวชายแดนทางเหนือของสหรัฐฯ รับมือแทบไม่ไหว ขณะที่ ชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่ตามแนวชายแดนดังกล่าวก็รู้สึกกระวนกระวายใจไม่น้อย

การสำรวจเมื่อเร็ว ๆ นี้โดย Pew Research Center ระบุว่า จำนวนผู้อพยพชาวอินเดียเข้าสหรัฐฯ โดยผิดกฎหมายที่เพิ่มขึ้นสูงนี้คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 ของผู้อพยพเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย โดยสถิติโดยรวมในปี 2021 ชี้ว่า มีมากถึง 725,000 คน ซึ่งมากกว่าผู้อพยพจากประเทศอื่น ๆ ในซีกโลกตะวันตก

จุดที่น่าสนใจของผู้อพยพกลุ่มนี้คือ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีฐานะค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับมาตรฐานคนอินเดีย และมาจากรัฐปัญจาบและรัฐคุชราต ซึ่งเป็นรัฐที่มั่งคั่งกว่ารัฐอื่น ๆ ของอินเดียและมีผู้ตัดสินใจอพยพย้ายมาอยู่ที่สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แต่เนื่องจากปัญหาทางกฎหมายและความจริงที่ว่า การจะขอวีซ่านักเรียนก็เป็นเรื่องยาก ขณะที่ ปัญหาหนังสือคำขออพยพเข้าเมืองของหน่วยงานสหรัฐฯ ที่คั่งค้างมากมาย การจะขอวีซ่าอพยพเข้าสหรัฐฯ ในเวลานี้อาจใช้เวลามากถึง 20 ปีถึงจะเสร็จสิ้น

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดทางเลือกใหม่ที่มีชื่อว่า “เส้นทางของลา” (Donkey Route) ให้ชาวอินเดียที่ต้องการมาอยู่ที่สหรัฐฯ เหลือเกินเลือกใช้ผ่านสหรัฐฯ โดยเส้นทางที่ว่านี้บางครั้งก็เต็มไปด้วยอันตราย แต่ก็ยังมีการนำมาแชร์ตามสื่อสังคมออนไลน์กันอย่างเปิดเผย และมีเครือข่ายลักลอบค้ามนุษย์เป็นผู้อำนวยความสะดวกแลกกับค่าเหนื่อยก้อนโตที่ว่ากันว่าสูงถึงกว่า 50,000 ดอลลาร์ (ราว 1.8 ล้านบาท) ต่อหัว อ้างอิงข้อมูลจาก เทเวศ คาปูร์ ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาเอเชียใต้ จากมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอพกินส์

แต่อีกส่วนหนึ่งก็เลือกที่จะใช้เส้นทางผ่านแคนาดาที่ปลอดภัยและรวดเร็วกว่า

ชินเดอร์ ปูเรวาล อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยควันท์เลน โปลีเทคนิค (Kwantlen Polytechnic University) ในเมืองเซอร์รีย์ มณฑลบริติชโคลัมเบีย ให้ความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า นโยบายรัฐบาลแคนาดาในปัจจุบันที่ส่งเสริมให้นักศึกษาต่างชาติมาศึกษาต่อที่แคนาดาทำให้ชาวอินเดียเลือกมาทางนี้เพิ่มขึ้น พร้อมระบุด้วยว่า สำหรับชาวอินเดียแล้ว “การขอวีซ่ามาแคนาดายังง่ายกว่า(ขอวีซ่าไป)ปากีสถานเสียอีก”

นอกเหนือจากประเด็นความหวังทางเศรษฐกิจแล้ว อีกเหตุผลที่ผู้อพยพชาวอินเดียเลือกมาสหรัฐฯ ก็คือการที่มีชุมชนชาวอินเดียที่ตั้งรกรากอยู่อย่างมั่นคงในประเทศนี้

วีโอเอ ติดต่อไปยังหน่วยงานด้านตรวจคนเข้าเมืองของแคนาดา และสถานทูตแคนาดาในกรุงวอชิงตัน เพื่อขอความเห็น แต่ไม่ได้รับการตอบกลับขณะจัดทำรายงานข่าวนี้

จีน: เสรีภาพและชีวิตที่มั่นคงกว่า

สำหรับชาวจีนที่ตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดและอพยพมาสหรัฐฯ ทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดยังคงเป็นทางชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกอยู่ โดยหลายคนยอมเสี่ยงภัยและชีวิตหนีเผด็จการจีน หรือไม่ก็หลบหนีสภาพการเมืองและเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนขึ้นเรื่อย ๆ มาตามฝันของเสรีภาพในสหรัฐฯ

สำนักงานศุลกากรและการป้องกันชายแดนของสหรัฐฯ (CBP) รายงานว่า ในช่วงปีที่แล้ว มีผู้อพยพชาวจีนมาปรากฏตัวตามจุดผ่านแดนต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ทั่วประเทศถึง 52,700 คน โดยราวครึ่งหนึ่งเดินทางมาที่ชายแดนที่ติดกับเม็กซิโก

ผู้ที่มาจากจีนที่ผ่านขั้นตอนการคัดกรองและสามารถแสดงเหตุผลที่น่าเชื่อถือได้ว่า ตนต้องหลบหนีการทารุณกรรมและการประหัตประหารในประเทศบ้านเกิด ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าสหรัฐ เพื่อสู้คดีการเดินทางเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมายในศาลต่อไป

แต่หลายคนที่ประสบความสำเร็จในการเดินทางมาจนถึงพรมแดนสหรัฐฯ พบว่า ความท้าทายไม่ได้จบลงที่ตรงนั้น จนทำให้บางคนตัดสินใจหันหลังกลับบ้านเอง หรือไม่ก็ถูกส่งกลับ

ฝันสลาย

วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ได้พบกับผู้ลี้ภัยชาวจีนวัย 40 กว่าปีรายหนึ่งที่ขอใช้นามแฝงว่า เซียะ หยู และบอกว่า ตนเดินทางมาถึงสหรัฐฯ เมื่อเดือนเมษายนของปีที่แล้ว หลังต้องเดินทางผ่านมาแล้วกว่า 10 ประเทศ ในช่วงเวลากว่า 2 เดือน

เขาบอกว่า ก่อนที่จะมาถึงพรมแดนสหรัฐฯ ทรัพย์สินส่วนตัวถูกขโมยไปหมด และเมื่อมาถึงจุดหมายและได้ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองควบคุมตัวเพื่อสอบสวนแล้ว ก็ต้องพบว่า ตนสอบไม่ผ่าน “การสัมภาษณ์กรณีความกลัวอันน่าเชื่อถือได้” เพื่อให้สถานภาพผู้ลี้ภัย

หลังจากนั้น เซียะ ถูกควบคุมตัวไว้ในพื้นที่กักกันในสหรัฐฯ ต่ออีกหลายเดือนเพื่อรอกระบวนการส่งตัวกลับจีน ก่อนจะเดินทางถึงสนามบินนครเซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว และถูกศุลกากรจีนปรับเป็นเงิน 71 ดอลลาร์ ทั้งยังต้องเซ็นชื่อในเอกสารยอมรับสารภาพว่าก่ออาชญากรรมจากการเดินทางเข้าประเทศสหรัฐฯ โดยผิดกฎหมายตนต้องถูกส่งตัวกลับ โดยทางการจีนยังได้ยึดพาสปอร์ตของเขาไว้และถูกสั่งห้ามไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศเป็นเวลา 3 ปีด้วย

เซียะ บอกกับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ว่า หน่วยงานความมั่นคงในเมืองบ้านเกิดของเขายังสอบปากคำเขาเกี่ยวกับสิ่งที่เผชิญในช่วงที่ถูกกักตัวอยู่ที่สหรัฐฯ และระบุว่า หน่วยงานดังกล่าวขอให้ตนลบบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ต่างชาติและผู้ที่ตนติดต่อด้วยในต่างประเทศออกให้หมด ทั้งยังเตือนไม่ให้ตนติดต่อคนเหล่านั้นอีกเพื่อจะได้ไม่ถูกหลอกอีก

เซียะ ยังบอกด้วยว่า เขาคิดว่า บัญชีใช้งาน WeChat ของตนถูกทางการจีนจับตาดูอยู่ เพื่อระวังไม่ให้มีการพูดปลุกปั่นให้คนอื่นพยายามหนีออกจากจีนและอพยพไปอยู่ประเทศอื่นโดยผิดกฎหมาย แต่เขาก็บอกว่า การที่ต้องเสียเงินไปหลายหมื่นดอลลาร์โดยไม่ได้เข้าไปอาศัยในสหรัฐฯ เลย ไม่ได้ทำให้เขาต้องการไปเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังอีก

ไม่มีที่ไหนสุขใจเท่าบ้านเรา

ส่วน หวัง จงเว่ย วัย 33 ปี จากมณฑลอานฮุย คือ หนึ่งในกลุ่มผู้ลี้ภัยที่ประสบความสำเร็จในการย้ายถิ่นฐานมาสหรัฐฯ และปัจจุบัน อาศัยอยู่ที่นครลอสแอนเจลิสและทำงานเคลื่อนไหวสนับสนุนผู้อพยพนับตั้งแต่ตนมาตั้งรกรากในประเทศนี้เมื่อเดือนพฤษภาคมของปีที่แล้ว

ย่านไชน่าทาวน์ นิวยอร์ก
ย่านไชน่าทาวน์ นิวยอร์ก

ชาวจีนหลายคนที่สามารถข้ามพรมแดนเข้าสหรัฐฯ มาได้ หรือพยายามจะเข้าประเทศให้ได้ ติดต่อมายัง หวัง เพื่อขอคำแนะนำไม่ขาดสาย และเขาก็บอกกับ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลางว่า ส่วนใหญ่ที่สามารถเดินทางเข้าสหรัฐฯ มาได้ตัดสินใจเดินหน้าอยู่เพื่อตามความฝันต่อ แต่ก็มีไม่น้อยที่ตัดสินใจหันหลังเดินทางกลับจีนเพราะความเหงา ถูกหลอก หรือไม่ก็ถูกครอบครัวที่จีนกดดัน

ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จในการตามหาฝันในแบบของคนอเมริกันคือ หลิว หมิง จากมณฑลเสฉวน และเป็นเพื่อนของหวัง ที่เดินทางมาสหรัฐฯ ในช่วงครั้งหลังของปี 2023 และเริ่มต้นที่นครลอสแอนเจลิส ก่อนจะย้ายมาหางานทำที่นครนิวยอร์ก

แต่หลังใช้เวลาสักพัก หลิว ก็ได้งานทำกับเจ้านายที่เป็นคนจีน แต่รายได้ไม่ได้ดีมาก จนกระทั่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาที่ เจ้านายของหลิวปฏิเสธไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง ทำให้เจ้าตัวต้องเรียกตำรวจมาจัดการ และเมื่อได้ค่าจ้างแล้ว หลิว ก็เดินทางไปสนามบินทันที ก่อนจะโทรหา หวัง เพื่อบอกลา ด้วยเหตุผลว่า ตนไม่ชอบชีวิตที่สหรัฐฯ เลย

ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น หวัง ทราบว่า หลิว กลับถึงจีนโดยไม่มีปัญหาใด ๆ และได้งานทำที่เมืองบ้านเกิดแล้ว ทั้งยังรู้สึกมีความสุขที่บ้านของตนด้วย

เสียใจ ซ้ำแล้วซ้ำอีก

จาง หลิง ชาวจีนในวัยเลขสาม ยอมให้สัมภาษณ์กับ วีโอเอ โดยใช้นามแฝง ยอมรับว่า ตนคือคนที่เสียใจกับการตัดสินใจของตน “ซ้ำแล้วซ้ำอีก” ซึ่งก็คือ เสียใจครั้งแรกเมื่อมาถึงสหรัฐฯ และเสียใจอีกครั้งเมื่อกลับมาที่จีน

เมื่อตอนที่ จาง มาถึงสหรัฐฯ เขาได้มาอยู่ที่นครลอสแอนเจลิสและทำงานเป็นพนักงานนวด เพราะเคยได้รับการฝึกมาก่อน โดยในตอนนั้น จาง มีรายได้วันละราว 150 ดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นค่าจ้างที่เป็นกอบเป็นกำดีมากสำหรับผู้อพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

แต่หลังอยู่ที่สหรัฐฯ ได้เพียงเดือนเดียว จาง ตัดสินใจเดินทางกลับจีนและเปิดร้านสปาเท้าที่เมืองบ้านเกิด

จาง ให้เหตุผลว่า ตนเองรู้สึกไม่คุ้นกับสภาพความเป็นอยู่ในสหรัฐฯ และรู้สึกเหงา คิดถึงบ้าน จึงตัดสินใจหุนหันพลันแล่น กลับจีน

จาง บอกว่า ตอนที่อยู่ที่สหรัฐฯ เขาตั้งความหวังจะทำเงินให้ได้เยอะ ๆ เพื่อจะให้ครอบครัวที่จีนได้พูดโอ้อวดให้เพื่อนบ้านอิจฉา แต่ตอนที่กลับมาจีน เขาต้องถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรสอบสวนนานถึง 12 ชั่วโมง ซึ่งยังโชคดี ที่ไม่ถูกลงโทษใด ๆ

ถึงกระนั้น ในเวลานี้ จาง บอกว่า ตนรู้สึกว่า ชีวิตที่บ้านเกิดนั้น “สิ้นหวังจริง ๆ” และบอกว่า หวังจะได้เดินทางมาสหรัฐฯ โดยผิดกฎหมายอีกครั้ง พร้อมกล่าวว่า “เมื่อคุณก้าวออกไปข้างนอก คุณจะพบว่า โลกภายนอกมันแตกต่างจริง ๆ (และ)มุมมองความคิดของคุณก็เปิดกว้างยิ่งขึ้น”

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG