ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ยูเอ็นร้องขอเงินสนับสนุนความช่วยเหลือมนุษยธรรม $4.2 พันล้านแก่ยูเครน


แฟ้มภาพ - ผู้คนลากของใช้ส่วนตัวเดินอยู่ในเมืองที่จัดให้กับผู้ลี้ภัยสงครามรัสเซีย ในเขตปกครองลวิฟ เมื่อ 9 ก.พ. 2566
แฟ้มภาพ - ผู้คนลากของใช้ส่วนตัวเดินอยู่ในเมืองที่จัดให้กับผู้ลี้ภัยสงครามรัสเซีย ในเขตปกครองลวิฟ เมื่อ 9 ก.พ. 2566

องค์การสหประชาชาติร้องขอนานาประเทศให้ร่วมลงขันเงินทุนความช่วยเหลือมูลค่า 4,200 ล้านดอลลาร์ให้กับประชาชนในยูเครนที่ยังคงต้องรับมือกับผลกระทบของสงครามที่เกิดจากการรุกรานของรัสเซียเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน รวมทั้งผู้คนนับล้านที่ต้องลี้ภัยไปยังประเทศอื่น ๆ ด้วย

หน่วยงานด้านมนุษยธรรมและหน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยของยูเอ็นออกแถลงการณ์ร่วมกันที่มีเนื้อความเกี่ยวกับผลกระทบของการโจมตีทางอากาศอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมาโดยรัสเซีย พร้อมระบุว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นแสดงให้เห็นถึง “ต้นทุนของสงครามซึ่งมีผลทำลายล้างต่อพลเรือน” พร้อม ๆ กับเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเข้าใจเกี่ยวกับสภาพอากาศอันหนาวเหน็บในเวลานี้ที่ยิ่งทำให้การนำส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั้งหลายเป็นเรื่องที่เร่งด่วนมากขึ้น

นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 ชาวยูเครนกว่า 5.9 ล้านคนตัดสินใจหนีภัยไปยังประเทศอื่น ๆ ในยุโรปแล้ว ตามข้อมูลของยูเอ็น โดยเยอรมนีและโปแลนด์คือประเทศที่รับผู้ลี้ภัยชาวยูเครนเข้ามาอยู่มากที่สุด ที่ราวประเทศละ 1 ล้านคน ประมาณ 400,000 คนได้เดินทางไปยังสาธารณรัฐเชค ขณะที่ มอลโดวา สโลวะเกีย ไอร์แลนด์ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปนและอังกฤษ รับไปประเทศละกว่า 100,000 คน

การประชุมด้านความมั่นคงที่ดาวอส

ขณะเดียวกัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติจาก 83 ประเทศเข้าร่วมประชุมที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวันอาทิตย์ หรือก่อนการเปิดการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เพียง 1 วัน เพื่อหารือแผนสันติภาพ 10 ข้อของยูเครนที่มีรายละเอียดเงื่อนไขของกรุงเคียฟเกี่ยวกับการทำให้สงครามกับรัสเซียยุติลง

ปธน.โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ลงนามในเอกสารที่กรุงเคียฟ เมื่อ 12 ม.ค. 2567 ก่อนจะเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ในวันที่ 15 ม.ค. เพื่อร่วมประชุม World Economic Forum
ปธน.โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ลงนามในเอกสารที่กรุงเคียฟ เมื่อ 12 ม.ค. 2567 ก่อนจะเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ในวันที่ 15 ม.ค. เพื่อร่วมประชุม World Economic Forum

ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี กล่าวถึงความสำคัญของการประชุมดังกล่าวว่า “การจัดระเบียบที่อ้างอิงตามกฎเกณฑ์นั้นคือ สิ่งที่ต้องมีการรื้อฟื้นกลับขึ้นมาอีกครั้ง – สำหรับคนทุกคนทั่วโลก โดยไม่มีข้อยกเว้น”

เซเลนสกี กล่าวด้วยว่า ผู้นำรัสเซียนั้น “เชื่อว่า การใช้ความรุนแรงและการสร้างความหวาดกลัว จะทำให้พวกเขาสามารถสร้างระบบระเบียบสักอย่างขึ้นมาได้ ในแบบของพวกนักล่า โดยปราศจากกฎเกณฑ์หรือการรับประกันด้านความมั่นคงใด ๆ เลย”

การประชุมดังกล่าวมีจำนวนที่ปรึกษาด้านความมั่นคงมาร่วมมากกว่าตัวเลข 65 ประเทศเมื่อเดือนตุลาคมของปีที่แล้ว ที่มอลตา อย่างมาก และยังมีตัวแทนจาก บราซิล อินเดีย ซาอุดีอาระเบียและแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตร BRICS ที่มีจีนและรัสเซียร่วมอยู่ด้วย

ถึงกระนั้น อิกนาซิโอ คาสซิ รัฐมนตรีต่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพร่วมการประชุมนี้ แสดงความผิดหวังที่จีนไม่ได้ส่งตัวแทนมาร่วม โดยบอกกับผู้สื่อข่าวว่า “จีนนั้นมีบทบาทสำคัญ เราต้องหาทางทำงานกับจีนในเรื่องนี้ให้ได้”

ทั้งนี้ ไม่มีความชัดเจนว่า สมาชิกกลุ่ม BRICS เห็นด้วยหรือไม่กับแผนสันติภาพของยูเครนที่เรียกร้องให้รัสเซียถอนทัพออกจากดินแดนของตนทั้งหมดอย่างสมบูรณ์ และรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามที่ตนก่อ รวมทั้ง ส่งตัวเด็กชาวยูเครนนับพันคนที่ถูกลักพาตัวไปยังรัสเซียกลับคืนสู่ครอบครัวด้วย

  • ข้อมูลบางส่วนมาจากเอพี เอเอฟพีและรอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG