ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รสนัว ไขมันแน่น หวานฉ่ำ - “อาหารแปรรูปสูง” ปลอดภัยแค่ไหน?


ภาพจากสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health) แสดงให้เห็นอาหารแปรรูปสูง (Ultra-Processed Foods - UPF) รวมถึง มะกะโรนีชีส ไก่ทอด ถั่วฝักยาวกระป๋อง และน้ำมะนาวกระป๋อง
ภาพจากสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health) แสดงให้เห็นอาหารแปรรูปสูง (Ultra-Processed Foods - UPF) รวมถึง มะกะโรนีชีส ไก่ทอด ถั่วฝักยาวกระป๋อง และน้ำมะนาวกระป๋อง

อาหารแปรรูปสูง (Ultra-Processed Foods - UPF) เป็นชื่อกลุ่มอาหาร ที่ผ่านการแปรรูปอุตสาหกรรมหลายขั้นตอน ตัวอย่างเช่น ซีเรียลเคลือบน้ำตาล พิซซ่าแช่แข็ง มันฝรั่งทอด โซดา และไอศกรีม

ในสหรัฐฯ อาหารแปรรูปสูงมีสัดส่วนถึง 60% ของอาหารทั้งหมดที่คนอเมริกันบริโภค ขณะที่สองในสามของอาหารที่เด็กและวัยรุ่นกินคืออาหารแปรรูปสูง หรืออาจกล่าวได้ว่าในทุกวัน หรือแทบจะทุกมื้อ อาหารแปรรูปสูงเป็นส่วนหนึ่งในการบริโภคของคนอเมริกันส่วนใหญ่

การวิจัยหลายชิ้นพบ “ความเชื่อมโยง” ระหว่างอาหารแปรรูปสูง และผลเชิงลบที่มีต่อสุขภาพ ตั้งแต่โรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ ภาวะซึมเศร้า โรคสมองเสื่อม และอื่น ๆ งานวิจัยล่าสุดชิ้นหนึ่ง ชี้ให้เห็นว่า การกินอาหารเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

แม้ว่าผลทางวิทยาศาสตร์จะมีความชัดเจน แต่คาดว่าอาหารแปรรูปสูงมีปริมาณคิดเป็น 73% ของผลิตภัณฑ์อาหารทั้งหมดในสหรัฐฯ ดังนั้นในทางปฏิบัติ จึงเป็นเรื่องยากที่ผู้บริโภคจะหลีกเลี่ยง ทางฝั่งของผู้ผลิตอาหารชี้ว่า อาหารประเภทนี้ช่วยเพิ่มความปลอดภัย ทำให้มีปริมาณอาหารที่เพียงพอ ประหยัด และส่งเสริมคุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลาย

ในปี 2009 คาร์ลอส มอนเตโร นักระบาดวิทยาชาวบราซิลและเพื่อนร่วมทีม ได้เสนอระบบการแบ่งประเภทอาหารตามระดับการแปรรูป ไม่ใช่ตามปริมาณสารอาหารที่มีอยู่

เควิน ฮอลล์ นักวิจัยด้านการเผาผลาญและโภชนาการ จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health – NIH) กล่าวว่า เมื่อแบ่งอาหารที่ผลิตผ่านกระบวนการอุตสาหกรรมเป็นสี่ระดับ ในระดับขั้นสูงสุด มีการใช้สารประกอบ เช่น สารเติมแต่ง สี และสารกันบูด เขาเสริมว่าอาหารบรรจุหีบห่อส่วนใหญ่ก็มีส่วนประกอบดังกล่าว ซึ่งการทำอาหารตามครัวเรือนทั่วไป จะไม่ใช้สารเหล่านี้

ดร. นีนา ปราสาด ผู้อำนวยการ โครงการนโยบายอาหาร มูลนิธิ บลูมเบิร์ก ฟิแลนทรอพีส์ (Bloomberg Philanthropies) อธิบายว่า “อาหารเหล่านี้มีส่วนผสมอย่างลงตัวของน้ำตาล เกลือ และไขมันทำให้เราไม่สามารถหยุดกินได้” อาหารประเภทนี้มักถูกผลิตขึ้นเพื่อให้มีราคาถูก และรสชาติอร่อยจนยากที่จะห้ามใจ

อย่างไรก็ดี “ระดับการแปรรูป” เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ตัวบ่งชี้ว่าอาหารจะส่งผลร้ายต่อสุขภาพ ตัวอย่างเช่น ขนมปังโฮลเกรน โยเกิร์ต เต้าหู้ และนมผงสำหรับทารก ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นอาหารที่ผ่านการแปรรูปสูง แต่ก็ยังมีคุณค่าทางโภชนาการ

งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า อาหารแปรรูปสูงมีความ “เชื่อมโยง” กับผลลบต่อสุขภาพ แต่ก็ยังไม่สามารถระบุว่า ผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพเหล่านั้นเกิดจากการบริโภคอาหารแปรรูป หรือเกิดจากตัวผู้บริโภคเองกันแน่

อาหารแปรรูปสูงมักที่จะมีปริมาณโซเดียม ไขมันอิ่มตัว และน้ำตาลที่สูงกว่า รวมถึงมีเส้นใยอาหารและโปรตีนที่น้อยกว่า ซึ่งก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าสารอาหารเหล่านี้เป็นสาเหตุที่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพหรือไม่

ฮอลล์และเพื่อนร่วมทีม ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในปี 2019 ในการทดลองดังกล่าว โดยให้ผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 20 คน พักที่สถาบันวิจัย NIH เป็นเวลาหนึ่งเดือน โดยจะได้รับอาหารทั้งประเภท “แปรรูปสูง” และประเภท “ไม่ผ่านการแปรรูป” อาหารทั้งสองแบบถูกวัดปริมาณแคลอรี่ น้ำตาล ไขมัน ไฟเบอร์ และสารอาหารหลักที่เท่ากัน ผู้เข้าร่วมจะได้บริโภคอาหารแต่ละประเภทเป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยสามารถทานได้ตามปริมาณที่ต้องการ

นักวิจัยพบว่า เมื่อกลุ่มตัวอย่างทานอาหารแปรรูปสูง พวกเขาจะได้รับแคลอรีมากกว่าการกินอาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูป ราว 500 แคลอรีต่อวัน และพวกเขาจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 1 กิโลกรัมตลอดระยะเวลาที่ทำการวิจัย แต่กลุ่มตัวอย่างที่บริโภคดฉพาะอาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูป พวกเขามีน้ำหนักลดลงประมาณ 1 กิโลกรัมในช่วงเวลาที่เท่ากัน

ปราสาด จากมูลนิธิ Bloomberg Philanthropies ตั้งคำถามว่า หรือว่าเราต้องรอให้เยาวชนเจ็บป่วยมากขึ้น ขณะที่เรากำลังรอหลักฐานงานวิจัยที่สมบูรณ์แบบมากกว่านี้ เธอยังเรียกร้องให้อุตสาหกรรมอาหารและภาครัฐ ออกมาตรการควบคุมอาหารแปรรูปสูง เช่น การเพิ่มภาษีในเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล การจำกัดโซเดียมที่มากขึ้นในภาคการผลิต รวมถึงเข้มงวดในการทำการตลาดธุรกิจอาหารที่มุ่งเน้นไปยังเยาวชน ในระดับเดียวกันกับธุรกิจยาสูบ

สำหรับผู้บริโภค การหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปอาจทำได้ไม่ง่าย ดังนั้นการตรวจสอบฉลาก และเลือกบริโภคอาหารที่มีโภชนาการสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ ถือเป็นแนวปฏิบัติที่ไม่ควรละเลย

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG