ในช่วงปี 2020 ขณะที่ผู้คนและเศรษฐกิจทั่วโลกตกอยู่ในภาวะปั่นป่วนหนักที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มา เพราะการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ บรรดามหาเศรษฐีทั้งหลายกลับเป็นคนกลุ่มเดียวที่สวนกระแสและเพิ่มความมั่งคั่งของตนขึ้นจนถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
แต่ในปีนี้ ผู้ที่ได้อานิสงก์จากสภาพเศรษฐกิจถดถอยในปีที่แล้วเริ่มต้องรู้สึกกดดันและเร่งหาทางจัดการกับความมั่งคงที่ล้นเหลือของแต่ละคน เพื่อรักษาและรวบรวมทรัพย์สินที่มีอยู่มากมายไม่ให้สูญหาย ในช่วงที่ทั่วทั้งโลกยังพยายามหาทางออกจากก้นบึ้งของความมืดหม่นทางเศรษฐกิจอยู่
สำนักข่าว รอยเตอร์ส รายงานความเห็นของ มอร์ริส เพิร์ล อดีตผู้บริหารบริษัท BlackRock และเป็นประธานกลุ่ม Patriotic Billionaires ซึ่งเชื่อว่า ผู้ที่มีฐานะร่ำรวยมหาศาลน่าจะมีส่วนร่วมมากขึ้นในการลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ที่ระบุว่า แม้ตลาดหุ้นทั่วโลกติดลบหนักเมื่อช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่พอร์ตการลงทุนของตนฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติภายในเดือนกรกฎาคมของปีที่แล้ว และนับตั้งแต่ต้นปีนี้มา ตัวเลขในพอร์ตของตนมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
เพิร์ล กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่า ปัญหาพื้นฐานของภาวะเศรษฐกิจสังคมโลกในเวลานี้คือ ค่าความเหลื่อมล้ำรวม (Gross Inequality) ในปัจจุบันนี้กำลังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
รอยเตอร์ส เปิดเผยด้วยว่า การสัมภาษณ์เศรษฐีและมหาเศรษฐีจำนวน 7 คน รวมทั้งที่ปรึกษาของผู้ร่ำรวยกว่า 20 คน พบว่า ผู้มีฐานะมั่งคั่งทั้งหลายกำลังร่วมกันถกแผนการจัดการทรัพย์สินของตนอยู่ ซึ่งมีตั้งแต่ การจัดสรรเงินเพื่องานการกุศล ไปจนถึงย้ายเงินและธุรกิจเข้าไปฝากไว้ในกองทุนทรัสต์ (Trust Fund) เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญที่เรียกว่า ทรัสตี (Trustee) บริหารให้แทน หรือแม้แต่การย้ายถิ่นฐานไปอยู่ประเทศหรือรัฐอื่นที่มีนโยบายภาษีที่น่าสนใจกว่า เป็นต้น
ร็อบ วีเบอร์ ซีอีโอ ของ Tiedemann Constatia บริษัทจัดการความมั่งคั่งจากสวิตเซอร์แลนด์ ให้ความเห็นว่า สถานการณ์เช่นนั้นแสดงให้เห็นว่า บรรดาคนรวยทั้งหลายเริ่มได้รับสัญญาณว่าจะต้องมีเหตุควักกระเป๋าหนักในเร็วๆ นี้แล้ว ดังเช่นลูกค้าบางรายของบริษัทที่เริ่มพิจารณาขายสินทรัพย์สำคัญๆ ของตน ซึ่งรวมถึงธุรกิจบางประเภท ก่อนที่จะมีการเพิ่มอัตราภาษี
ในสหรัฐฯ หลังประธานาธิบดี โจ ไบเดน รับหน้าที่บริหารประเทศ หลายคนเริ่มคาดการณ์แล้วว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันจะดำเนินการปรับเพิ่มอัตราภาษีที่เรียกเก็บจากคนรวยตามที่ประกาศไว้ในนโยบายหาเสียงอย่างแน่นอน ทำให้ผู้มีอันจะกินทั้งหลายเริ่มหันมาจัดตั้งกองทุนทรัสต์กันมากมาย ตามข้อมูลที่รอยเตอร์สได้มาจากการสัมภาษณ์ผู้จัดการความมั่งคั่งหลายราย
ทั้งนี้ การจัดตั้งกองทุนทรัสต์ในสหรัฐฯ เป็นทางเลือกที่ทำให้มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง สามารถส่งต่อทรัพย์สินที่จัดการภายใต้กองทุน ต่อไปยังลูกหลานและญาติ ได้โดยไม่ต้องเสียภาษี หากมูลค่ารวมไม่เกิน 11.7 ล้านดอลลาร์ต่อคน ตามฐานภาษีในปัจจุบัน
ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ปธน.ไบเดน เสนอให้มีการปรับตัวเลขดังกล่าวให้กลับคืนฐานภาษีในปี ค.ศ. 2009 ซึ่งก็คือ 3.5 ล้านดอลลาร์
เพิ่มความมั่งคั่งด้วยไหวพริบทันสถานการณ์
เกือบ 2 ใน 3 ของอภิมหาเศรษฐีทั่วโลกกอบโกยความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2020 ตามข้อมูลของนิตยสารฟอร์บส ผู้ที่ร่ำรวยมากที่สุดในปีที่ผ่านมานั้น รวยถึงระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ด้วยแรงหนุนมูลค่าล้านล้านดอลลาร์ จากเงินช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ส่งมาจากผู้กำหนดนโยบายในแต่ละประเทศเสียเอง
นิตยสารฟอร์บส ที่ติดตามบุคคลร่ำรวยและเปิดเผยข้อมูลของพวกเขาต่อสาธารณชนมาโดยตลอด ประเมินว่า เหล่าเศรษฐีพันล้าน ร่ำรวยขึ้นราว 20 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2020 ที่ผ่านมา
แมกซิมิเลียน คุนเคล หัวหน้าฝ่ายการลงทุนธุรกิจครอบครัวจากธนาคาร UBS มองว่า ความร่ำรวยไม่ได้มาเพราะโชคช่วยแต่อย่างเดียว เพราะมหาเศรษฐีเหล่านี้ ต่างเพลิดเพลินกับโอกาสการลงทุนที่มากกว่านักลงทุนรายย่อยทั่วไป และมีทุนหนาพอสำหรับการทุ่มเงินลงทุนท่ามกลางความเสี่ยงสูงในตลาดตราสารอนุพันธ์ และคนกลุ่มนี้คิดไวทำไวในการฉกฉวยโอกาสในจังหวะที่ตลาดการเงินอยู่ในสภาวะไม่ปกติเช่นนี้
เจสัน เคน Cain นักวางแผนการเงินจาก Boston Private มองว่า ในระหว่างที่รัฐบาลทั่วโลก กำลังสู้รบกับปัญหาภาระหนี้ภาครัฐและความไม่สงบในสังคม เหล่าอภิมหาเศรษฐีกลับโฟกัสอยู่กับความมั่งคั่งที่กำลังงอกงามในตอนนี้ และใช้จังหวะนี้เร่งเทเงินทุนและย้ายธุรกิจไปยังกองทุนทรัสต์ของลูกหลานเพื่อผลประโยชน์ทางภาษี และเป็นแนวโน้มการลงทุนของมหาเศรษฐีในยุคโควิดระบาดช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา จากที่ราว 75-80 เปอร์เซ็นต์ ของครอบครัวคนมั่งคั่งที่เข้ามาปรึกษาทางการเงิน เห็นตรงกันว่านี่คือนาทีทองและต้องทำอะไรสักอย่างกับโอกาสนี้
มหาเศรษฐีคิดหนัก-หลบโควิดไปพักที่ใดถึงจะดี
ขณะเดียวกัน ผู้มีฐานะร่ำรวยอีกหลายรายทั่วโลกพิจารณาที่จะทำการย้ายถิ่นฐานตนเองไปอยู่ที่อื่นที่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่สบายกระเป๋ากว่า และต้อนรับมหาเศรษฐีอบอุ่นกว่า
บาบัค ดาสท์มัลท์ชิ หัวหน้าส่วนงานกลยุทธ์ลูกค้าของธนาคาร Credit Suisse บอกกับผู้สื่อข่าวว่า บรรดาคนรวยที่ว่านี้ยอมรับว่าในโลกปัจจุบันที่มีความโปร่งใสมากขึ้นเรื่อยๆ การจะอยู่ที่เดิมและหาทางหลบเลี่ยงภาษีนั้น ไม่น่าจะทำได้ง่ายๆ ดังนั้น การย้ายไปอยู่ที่ใหม่ ที่มีระบบกฎหมายที่เหมาะสมกับความต้องการ ทั้งยังโปร่งใส เปิดกว้าง และได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก และสิงคโปร์ น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า
รอยเตอร์ส รายงานด้วยว่า Henley & Partners ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านถิ่นที่อยู่และสัญชาติ ในกรุงลอนดอน เปิดเผยว่า จำนวนข้อสอบถามจากลูกค้าระดับมหาเศรษฐี เกี่ยวกับคำแนะนำสำหรับการย้ายถิ่นฐานในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 นั้นพุ่งสู่งขึ้นอย่างมาก โดยสถิติการติดต่อจากลูกค้าในสหรัฐฯ ในปีที่แล้วเพิ่มขึ้นถึง 206 เปอร์เซ็นต์ จากเมื่อปี ค.ศ. 2019 ขณะที่ ลูกค้าจากบราซิลเพิ่มขึ้น 156 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลาเดียวกัน เป็นต้น
นอกจากนั้น ความกลัวว่าบริการสาธารณะต่างๆ ในประเทศอุบัติใหม่ที่เริ่มติดขัดเพราะโควิด-19 จะนำไปสู่ความไม่สงบในประเทศ ยังทำให้ผู้คนที่อายุยังไม่มากและเป็นสมาชิกครอบครัวที่ร่ำรวย เร่งหาทางย้ายไปอยู่ประเทศอื่นกันอย่างมากมายเช่นกัน
ซินดี้ ออสเตรเจอ ผู้อำนวยการด้านงานภาษีจาก Clarfeld Citizens Private Wealth บอกกับผู้สื่อข่าวว่า เธอพบว่า ลูกค้าระดับอภิมหาเศรษฐีจำนวนไม่น้อยเริ่มย้ายออกจากมหานครนิวยอร์กซิตี ไปอยู่ตามเมืองตากอากาศ เช่น แฮมพ์ตัน มากขึ้น เพื่อหลบหนีสถานการณ์การระบาดอันรุนแรง และเพื่อจะได้จ่ายภาษีน้อยลงด้วย
ส่วน คริสตี้ แฮนสัน จากบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน NEPC ที่มีสำนักงานสาขาทั่วสหรัฐฯ กล่าวว่า ผู้มีฐานะร่ำรวยจำนวนมากยังพิจารณาย้ายถิ่นฐานไปยังรัฐที่มีอัตราภาษีต่ำ เช่น เท็กซัส ฟลอริดา และวอชิงตัน เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
เมื่อความไม่เท่าเทียมกันในสังคม บีบเศรษฐีให้ใจบุญสุนทานมากขึ้น
ในระหว่างที่นานาประเทศกำลังรับมือกับวิกฤตโควิด-19 นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกต่างกังวลถึงปัญหาใหญ่ที่คืบคลานเข้ามา นั่นคือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนร่ำรวยกับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจโดยรวม
เมื่อต้นเดือนมีนาคม ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีอเมริกา เพิ่มขึ้น 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นเกือบครึ่งหนึ่ง นับตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 ตามข้อมูลของสถาบัน Institute for Policy Studies and Americans for Tax Fairness นั่นเท่ากับว่าอภิมหาเศรษฐีอเมริกันร่ำรวยขึ้นถึง 4.2 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 5 ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ของสหรัฐฯ เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา และยังมากกว่าความมั่งคั่งของชาวอเมริกันกลุ่มรายได้น้อยครึ่งประเทศมารวมกันถึงเท่าตัว
อีกด้านหนึ่งในมุมมองของ จูดี้ สปาลท์ฮอฟฟ์ หัวหน้าฝ่าย family advisory and philanthropy services จากธนาคาร UBS พบว่า วิกฤตโควิด-19 ทำให้คนร่ำรวยถูกจับตามองถึงการตอบแทนคืนแก่สังคมในด้านต่างๆมากขึ้น ท่ามกลางประเด็นทางสังคมมากมาย คนรุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมทางสังคมมากขึ้นในวงกว้าง ไม่เว้นแม้แต่คนรุ่นใหม่ที่อยู่ในฟองสบู่แห่งความมั่งคั่ง และนั่นนำไปสู่การจัดตั้งมูลนิธิของคนร่ำรวยเพื่อช่วยเหลือสังคมมากขึ้น จากที่เมื่อปีที่แล้ว กองทุนที่สนับสนุนโครงการ Action Against Hunger ได้รับบริจาคเพิ่มขึ้นถึง 74 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม แกรี สตีเวนสัน นักเศรษฐศาสตร์และอดีตเทรดเดอร์ (Trader) จาก Citibank กลับมองว่า การจัดการกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ ต้องรวมเรื่องภาษีความมั่งคั่งเข้าไปในสมการนี้ด้วย เพราะตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่เศรษฐีพันล้านมักจ่ายภาษีต่ำกว่าพนักงานปกติทั่วไป และเขาไม่คิดว่าการมุ่งเน้นจัดการหักภาษีเงินได้ของคนร่ำรวยอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องเข้าไปปฏิรูประบบภาษีที่เกี่ยวเนื่องกับสินทรัพย์และความมั่งคั่งของพวกเขาทั้งระบบด้วย