Ruslan Zamaray มาเรียนต่อในสหรัฐฯ เมื่อ 14 ปีที่เเล้ว เเม้มาถึงตอนนี้ เขายังไม่มั่นใจในการเขียนภาษาอังกฤษของตน เเละจะไม่ส่งอีเมล์สำคัญๆ โดยไม่ตรวจความถูกต้องผ่านโปรเเกรม Grammarly เสียก่อน
เขากล่าวว่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านไอที รวมทั้งตัวเขาเอง เขียนภาษาอังกฤษไม่เก่ง นี่เป็นเหตุผลที่เข้าใช้โปรเเกรม Grammarly ตรวจความถูกต้องเสียก่อน โดยเฉพาะหากเป็นอีเมล์ที่สำคัญที่จะส่งไปให้หัวหน้างานเเละเพื่อนร่วมงานทุกคนในบริษัท
อเล็กซ์ เชฟเชนโก (Alex Shevchenko) จากกรุงเคียฟ (Kyiv) เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Grammarly เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เขาเรียนปริญญาโทที่ประเทศแคนาดา เขากล่าวว่าการเขียนรายงานวิจัยยากมาก ในฐานะผู้เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง เขามีปัญหาการเขียนภาษาอังกฤษเเละเขียนไม่เก่งเป็นทุนอยู่เเล้ว ดังนั้นจึงหันมาใช้เทคโนโลยีในการช่วยเเก้ปัญหานี้
ในปี ค.ศ. 2008 หรือกว่า 8 ปีที่แล้ว อเล็กซ์ เชฟเชนโก เเละเพื่อนอีกสองคน เเม็กซิม ลิทวิน (Maxim Lytvin) กับ ดมิทโทร ลิเดอร์ (Dmytro Lider) ร่วมกันก่อตั้งบริษัท Grammarly
อเล็กซ์ เชฟเชนโก กล่าวว่า เป้าหมายของบริษัทคือช่วยผู้ใช้สื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างชัดเจน เเละสื่อสารได้ผล และเขียนภาษาอังกฤษได้อย่างไร้คำเขียนผิด
ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัททั้งสามคนสร้างบริษัทใหม่ขึ้นมาโดยใช้ประสบการณ์ของตน เเละพัฒนาจากโปรเเกรมที่พวกเขาคิดค้นขึ้นก่อนหน้านี้ คือ Mydropbox.com ซึ่งได้ขายไปในปี 2007
บรรดามหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ที่ใช้โปรแกรมตรวจสอบการเขียนภาษาอังกฤษดังกล่าว ได้กลายมาเป็นลูกค้ารุ่นเเรกๆ ของโปรแกรม Grammarly
ทุกวันนี้ โปรแกรมตรวจแกรมมาร์ภาษาอังกฤษซึ่งใช้ปัญญาประดิษฐ์นี้ มีให้เลือกใช้ทั้งเวอร์ชั่นฟรีเเละที่ต้องเสียเงิน คนใช้โปรแกรมนี้มีทั้งคนที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง เเละคนที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาเเม่
ปีนี้ทางบริษัททำรายได้ 110 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ จากลูกค้าหลายบริษัท
ทุกวันนี้ Grammarly มีสำนักงานในซานฟรานซิสโก มหานครนิวยอร์คเเละกรุงเคียฟ ของยูเครน
เเม้ว่าการเปิดสำนักงานในซานฟรานซิสโกจะเสียค่าใช้จ่ายสูงเเต่ก็คุ้มค่าด้านการลงทุน เนื่องจากมีเครืยข่ายพี่เลี้ยงเเละที่ปรึกษาที่จะช่วยบริษัทพัฒนาให้ดีขึ้นไปอีก เเต่ในบรรดาสำนักงานทั้งหมด สำนักงานที่กรุงเคียฟถือว่าใหญ่ที่สุด เพราะมีทีมวิศวกรเเละเจ้าหน้าที่อื่นๆ กว่า 100 คน
อเล็กซ์ เชฟเชนโก ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท กล่าวว่า ทีมวิศวกรชุดเเรกเริ่มของบริษัทเคยอยู่ประจำที่กรุงเคียฟ วิศวกรที่เก่งที่สุดของโลกมาจากยูเครน เเละสถาบันการศึกษาต่างๆ ในยูเครนผลิตวิศวกรที่มีความสามารถเป็นที่ต้องการของบริษัทใหญ่ๆ เช่น กูเกิ้ล หรือ เฟสบุ๊ค ตลอดเวลา
เขากล่าวว่า ซิลลิคอนวัลเล่ย์มองยูเครนว่าเป็นประเทศเเหล่งทรัพยากรผลิตวิศวกรที่มีความสามารถ เเต่ในปัจจุบันยูเครนได้พัฒนาตนเองจนกลายเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งตัวเขาเองเเละผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทมีบทบาทสูงในเรื่องนี้
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)