ลิ้งค์เชื่อมต่อ

5 ปีมีลุ้น! “อูเบอร์” จับมือกองทัพสหรัฐฯ พัฒนา “แท็กซี่บินได้”


An artist's rendering of the Uber flying taxi concept, May 7, 2018.
An artist's rendering of the Uber flying taxi concept, May 7, 2018.

หลังจากปล่อยข่าวโปรเจคแห่งอนาคตให้ได้ตั้งตารอกับ “แท็กซี่บินได้” ล่าสุด “อูเบอร์” ก็เผยโฉมของแท็กซี่มีปีก พร้อมเผยความร่วมมือครั้งสำคัญกับกองทัพสหรัฐฯ ในการพัฒนาเทคโนโลยีการคมนาคมทางอากาศอันล้ำสมัยนี้ด้วย

นายดารา คอสราวชาฮี ซีอีโอของอูเบอร์ บริษัทผู้ให้บริการรถโดยสารผ่านแอพพลิเคชั่น เผยโฉม Uber Air หรือ แท็กซี่บินได้ ตัวต้นแบบของอูเบอร์ เป็นเครื่องบิน 4 ใบพัดในแนวราบ และอีก 1 ใบพัดที่หางเครื่องบิน เหมือนกับเฮลิคอปเตอร์หรือโดรนขนาดยักษ์

รองรับผู้โดยสารสูงสุด 4 คน กับอีก 1 นักบิน ขับเคลื่อนด้วยความเร็ว 150-200 ไมล์ต่อชั่วโมง ที่ระดับความสูง 1,000 - 2,000 ฟุต ในระยะทางประมาณ 60 ไมล์ด้วยพลังงานไฟฟ้าและเทคโนโลยีไฮบริด ซึ่งในอนาคตอาจจะเป็นการขับเคลื่อนอัตโนมัติ หลังจากที่ผ่านการทดสอบด้านความปลอดภัยแล้ว

สำหรับการใช้บริการก็ยังทำผ่านแอพพลิเคชั่น อูเบอร์ เหมือนเดิม แต่ผู้โดยสารจะต้องขึ้นเครื่องและลงจอดในจุดรับส่งที่เรียกว่า Skyport ในย่านชุมชนเมืองและที่สนามบิน ซึ่ง Skyport บางแห่งอาจรองรับเที่ยวบิน Uber Air ได้มากถึง 200 เที่ยวต่อชั่วโมง หรือ 1 ลำในทุก 24 วินาที

ล่าสุด อูเบอร์ได้ร่วมมือกับกองทัพสหรัฐฯ ในการพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานที่ขับเคลื่อนด้วยใบพัดรุ่นใหม่ที่ล้ำสมัยและไร้เสียง หลังจากจับมือกับองค์การนาซาและหน่วยงานด้านเทคโนโลยีอวกาศของสหรัฐฯอีกหลายแห่ง ในการรวบรวมข้อมูลการจราจรทางอากาศและความปลอดภัยด้านการบินในเมืองใหญ่ ซึ่งนำร่องที่ท่าอากาศยานนานาชาติ Dallas/Fort Worth ในเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส

ส่วนเรื่องของอัตราค่าบริการนั้น นายคอสราวชาฮี หวังว่าจะทำให้การคมนาคมรูปแบบนี้อยู่ในระดับราคาที่คนทั่วไปเข้าถึงได้

พร้อมกันนี้ ผู้บริหารอูเบอร์ยังบอกด้วยว่า จะเริ่มการทดสอบการบินของ Uber Air ในอีก 2 ปีข้างหน้า ในเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส หรืออาจจะเป็นนครลอส แองเจลีส รัฐแคลิฟอร์เนีย ก่อนที่จะเปิดให้บริการในปี 2566 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า

เทคโนโลยีแท็กซี่บินได้ของอูเบอร์ กำลังแข่งขันอยู่กับผู้ผลิตอากาศยานยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Airbus ที่ผลิต Kitty Hawk ด้วยความร่วมมือของผู้ร่วมก่อตั้ง Google แลร์รี เพจ และ Volocopter บริษัทสตาร์ทอัพด้านอากาศยานสัญชาติเยอรมัน ที่กำลังเดินหน้าโปรเจคยักษ์นี้อยู่เช่นกัน

XS
SM
MD
LG