ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหรัฐฯ - จีน ถกประเด็นนิวเคลียร์แบบกึ่งทางการ หลังห่างหายไป 5 ปี


ขีปนาวุธรุ่น DF-26 ในพาเหรดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เนื่องในวันเฉลิมฉลอง 70 ปีการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 (ที่มา: Pool via AP)
ขีปนาวุธรุ่น DF-26 ในพาเหรดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เนื่องในวันเฉลิมฉลอง 70 ปีการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 (ที่มา: Pool via AP)

ผู้แทนฝ่ายอเมริกัน เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า สหรัฐฯ และจีนได้กลับมามีการพูดคุยแบบกึ่งทางการในประเด็นอาวุธนิวเคลียร์แล้วอีกครั้งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบห้าปี โดยตัวแทนจากกรุงปักกิ่งยืนยันว่าจะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์กับไต้หวัน

เดวิด ซันโทโร ผู้จัดงานพูดคุยประเภทแทร็คที่สอง (Track Two) กล่าวกับรอยเตอร์ที่รายงานเรื่องนี้เป็นที่แรกว่า “พวกเขา (ตัวแทนจีน) บอกฝั่งสหรัฐฯ ว่า พวกเขาเชื่ออย่างแน่แท้ว่าสามารถเอาชนะไต้หวันในการสู้รบตามแบบ (conventional fight) โดยไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์”

ผู้เข้าร่วมในวงแทร็คทูเป็นอดีตเจ้าหน้าที่และนักวิชาการที่สามารถพูดคุยกับหารือกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ ซึ่งต่างไปจากเวทีระดับแทร็คที่หนึ่ง (Track One) ที่เป็นการพูดคุยระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล

การพูดคุยดังกล่าวจัดขึ้นเป็นเวลาสองวัน ในห้องประชุมของโรงแรมที่นครเซี่ยงไฮ้ โดยรัฐบาลปักกิ่งส่งนักวิชาการ นักวิเคราะห์ รวมถึงอดีตทหารในกองทัพปลดปล่อยประชาชนเข้าร่วม และฝั่งรัฐบาลวอชิงตันก็ส่งอดีตเจ้าหน้าที่และนักวิชาการราว 6 คนเข้าร่วมการหารือ

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตอบคำถามรอยเตอร์เกี่ยวกับการหารือดังกล่าว โดยระบุว่า เวทีพูดคุยนี้อาจจะ “เป็นประโยชน์” แต่ไม่ได้ส่งตัวแทนของกระทรวงเข้าร่วมประชุม แม้จะรับทราบถึงการมีกำหนดการดังกล่าวก็ตาม

โฆษกคนนี้ระบุว่า การหารือข้างต้นไม่สามารถทดแทนการเจรจาอย่างเป็นทางการ “ที่ต้องการให้ผู้เข้าร่วมพูดคุยอย่างมีอำนาจตัดสินใจในประเด็นที่บ่อยครั้งถูกแบ่งแยกกระจายไปภายในแวดวงของรัฐบาล(จีน)”

ผู้แทนฝ่ายจีน รวมถึงกระทรวงกลาโหมของจีน ไม่ได้ตอบรับคำขอความเห็นของรอยเตอร์

เดวิด ซันโทโร ผู้จัดงานพูดคุยประเภทแทร็คที่สอง (Track Two) เล่าว่า คณะผู้แทนทั้งสองฝั่งแสดงความรู้สึกผิดหวังไม่พึงใจออกมาระหว่างการหารือรอบนี้ แต่ต่างก็เห็นเหตุและผลที่จะมีการกลับมาพูดคุยกันอีกครั้ง โดยมีการวางแผนที่จะจัดการหารือต่อไปในปี 2025

วงหารือไม่เป็นทางการที่เกิดขึ้นระหว่างชาติที่มีอาวุธนิวเคลียร์นี้ เกิดขึ้นในช่วงที่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ -จีนเขม็งเกลียวมากขึ้นในแง่เศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ โดยก่อนหน้านี้ทั้งสองชาติเคยรื้อฟื้นการพูดคุยนิวเคลียร์ในแทร็คที่หนึ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ไม่มีความคืบหน้า ซึ่งในครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ระดับผู้นำของสหรัฐฯ ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อระดับการตอบสนองของฝ่ายจีน

รัฐบาลกรุงปักกิ่งประกาศอย่างต่อเนื่องว่าจะนำไต้หวันกลับมาอยู่ใต้การปกครอง และในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาก็ยกระดับการคุกคามรัฐบาลไทเปมากขึ้นด้วยการเพิ่มกิจกรรมทางทหารขึ้นรอบ ๆ เกาะไต้หวัน

การพูดคุยแทร็คที่สองนี้เป็นส่วนหนึ่งของการหารือเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ที่ดำเนินมาต่อเนื่องเป็นเวลาสองทศวรรษ ก่อนที่จะชะงักงันไป หลังถูกรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนงบประมาณออกไปในปี 2019

การประเมินเมื่อปีที่แล้วของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า รัฐบาลกรุงปักกิ่งมีหัวรบนิวเคลียร์ที่ใช้งานได้อยู่ 500 หัว และคาดว่าจะเพิ่มจำนวนเป็นมากกว่า 1,000 หัวภายในปี 2030 โดยปัจจุบัน สหรัฐฯ และรัสเซียมีหัวรบที่ใช้งานได้อยู่ที่ 1,770 และ 1,710 หัว ตามลำดับ

นับตั้งแต่ปี 2020 จีนเริ่มปรับคลังแสงให้มีความทันสมัยขึ้น ทำให้จีนมีแสนยานุภาพทางนิวเคลียร์ที่สามารถใช้ได้ทั้งบนบก ในน้ำ และบนอากาศ ซึ่งถือเป็นการมีคลังแสงนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ที่สมบูรณ์ (nuclear triad) ในแบบที่มหาอำนาจทางอาวุธนิวเคลียร์มี

เมื่อเดือนพฤษภาคม บอนนี เจนกินส์ ปลัดสำนักงานควบคุมอาวุธและความมั่นคงระหว่างประเทศ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แถลงกับสภาคองเกรสว่า จีนยังไม่ตอบรับข้อเสนอการลดความเสี่ยงด้านอาวุธนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ เสนอไปในการพูดคุยเมื่อปีที่แล้ว

วิลเลียม อัลเบิร์ค จากศูนย์ Henry Stimson Center ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการหารือแทร็คที่สอง กล่าวว่า การพูดคุยลักษณะนี้มีประโยชน์กับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่มีความเปราะบาง และมองว่า จีนใช้ความคลุมเครือเป็นเครื่องมือตอบโต้กับอำนาจนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ที่เหนือกว่า ซึ่งในแง่หนึ่ง จีนก็ไม่มีข้อผูกพันอะไรที่ต้องมีการหารือที่สร้างสรรค์ในประเด็นนี้อยู่แล้ว

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG