สายการบิน แอร์ไชน่า (Air China) และ ไชน่า เซาธ์เทิร์น แอร์ไลน์ส (China Southern Airlines) จะเริ่มใช้เครื่องบินโดยสาร โคแมค ซี919 (COMAC C919) ที่ผลิตในประเทศจีน ในการให้บริการผู้โดยสาร หลังจากได้รับเครื่องบินดังกล่าวลำแรกในวันพุธ ตามรายงานของสื่อ Chinese Central TV ของทางการจีน
บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินของจีน โคแมค พยายามเข้ามาตีตลาดเครื่องบินโดยสารที่ครอบครองโดยสองบริษัทใหญ่ คือ โบอิ้ง (Boeing) ของสหรัฐฯ และแอร์บัส (Airbus) ของยุโรป ท่ามกลางปัญหาที่ถาโถมเข้าใส่บริษัทเครื่องบินทั้งสองแห่งนี้
เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว โคแมคส่งมอบเครื่องบิน ซี919 ลำแรกให้กับสายการบิน ไชน่า อีสเทิร์น (China Eastern) สำหรับใช้ในประเทศ โดยปัจจุบันสายการบินนี้มีเครื่องบิน ซี919 ให้บริการทั้งหมด 7 ลำ
ทั้งนี้ สายการบินรายใหญ่ของจีน 3 แห่งที่มีรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ คือ แอร์ไชน่า, ไชน่า เซาธ์เทิร์น แอร์ไลน์ส และ ไชน่า อีสเทิร์น ล้วนสั่งซื้อเครื่องบิน ซี919 รายละ 100 ลำ โดยทางไชน่า อีสเทิร์น ประกาศว่า จะเริ่มนำซี919 ลำแรกมาให้บริการในวันพุธนี้
ซี919 สามารถบรรจุผู้โดยสารได้ 192 คน มีขนาดใกล้เคียงกับ โบอิ้ง 737 แมกซ์ (Boeing 737 MAX) และแอร์บัส เอ320นีโอ (Airbus A320neo)
ทางโคแมคระบุว่า จนถึงขณะนี้มียอดสั่งซื้อเครื่องบินรุ่น ซี919 เข้ามาแล้วกว่า 1,000 ลำ โดยทางบริษัทได้ขยายแผนการผลิตและการตลาดไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และซาอุดิอาระเบีย ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมการบิน
เมื่อเดือนที่แล้ว บริษัทจงไท่ ซีเคียวริตีส์ (Zhongtai Securities) คาดการณ์ว่า โคแมคจะสามารถผลิตเครื่องบินได้ถึง 100 ลำต่อปีภายในปี 2030 และเพิ่มเป็น 1,000 ลำต่อปีในปี 2035
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า โคแมคยังคงห่างไกลกับการกระโจนเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ หากไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป
บริษัทที่ปรึกษาด้านการบิน ซีเรียม (Cirium) คาดการณ์ว่า ในปี 2042 โคแมคจะมีส่วนแบ่งในตลาดโลก 25% ขณะที่โบอิ้งและแอร์บัสจะมีส่วนแบ่ง 30% และ 45% ตามลำดับ
- ที่มา: รอยเตอร์