ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และนักระบาดวิทยาของสหรัฐเตือนให้ระวังภัยสุขภาพซ้ำซ้อนทั้งจากไวรัสไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปีไปจนถึงต้นปีหน้า โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขของสหรัฐหลายคนเตือนว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงต่อเนื่องถึงฤดูหนาวควบคู่ไปกับการระบาดของโควิด-19
นอกจากจะสร้างแรงกดดันต่อระบบบริการสุขภาพแล้วยังจะเป็นภัยต่อสุขภาพซ้ำสองได้ด้วยเพราะเราอาจติดไวรัสทั้งสองชนิดนี้ได้ในเวลาเดียวกัน โดยแพทย์หญิงซีมา ยาสมิน นักระบาดวิทยาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดบอกว่าแม้กระทั่งการติดไวรัสชนิดใดชนิดหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียวก็จะทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลงและเพิ่มโอกาสให้ติดเชื้อไวรัสชนิดอื่นได้ง่ายขึ้น
ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐเตือนว่าโดยตัวเองแล้วเชื้อไข้หวัดใหญ่กับโควิด-19 จะโจมตีปอดทำให้ปอดอักเสบหรือที่เรียกว่าปอดบวมและทำให้ระบบหายใจล้มเหลว รวมทั้งยังอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ และสร้างภาวะอักเสบต่อสมอง หัวใจ รวมทั้งเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อต่างๆ ได้ด้วย ซึ่งนายแพทย์ไมเคิล แมทเธย์ ของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียนครซานฟรานซิสโกก็ชี้ว่าการติดไวรัสสองชนิดในเวลาเดียวกันจะยิ่งสร้างความเสี่ยงในระยะยาวต่อการทำงานของระบบอวัยวะเหล่านี้ด้วย
ในขณะนี้แม้จะยังไม่มีข้อมูลจากผู้ป่วยโดยตรงว่าการติดเชื้อไวรัสทั้งสองชนิดในเวลาเดียวกันจะสร้างผลเสียต่อสุขภาพของบุคคลได้มากเพียงใดก็ตามเพราะโควิด-19 เริ่มระบาดในสหรัฐในช่วงปลายของฤดูไข้หวัดใหญ่เมื่อต้นปีนี้ แต่นายแพทย์ไมเคิล แมทเธย์ก็เชื่อว่าปอดจะเป็นจุดอ่อนที่สำคัญอย่างแน่นอน
เรื่องที่จะสร้างปัญหาซับซ้อนอีกอย่างในช่วงที่ไข้หวัดใหญ่ระบาดก็คืออาการของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่กับโควิด-19 นั้นคล้ายคลึงกันจนแทบแยกไม่ออก เพราะไวรัสทั้งสองจะทำให้มีไข้สูง ไอ เจ็บคอ หายใจไม่ออก อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัวรวมทั้งมีอาการคัดจมูกหรือน้ำมูกไหลได้ และถึงแม้เราอาจสามารถสังเกตและเลือกอยู่ห่างจากผู้ที่มีไวรัสไข้หวัดใหญ่ก็ตามแต่ในกรณีของโควิด-19 นั้นการสังเกตด้วยตาหรือจากอาการแต่เพียงอย่างเดียวยังไม่พอ เพราะประมาณ 40% ถึง 80% ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 มักไม่แสดงอาการแต่การติดเชื้อราว 50% นั้นมักมาจากผู้ที่มีเชื้อแต่ไม่มีอาการนั่นเอง
ในขณะที่คำแนะนำมาตรฐานเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 ยังคงเป็นการสวมหน้ากากและเว้นระยะห่าง รวมทั้งเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัดซึ่งการระบายถ่ายเทอากาศไม่ดีนั้น แพทย์หญิงจีนส์ มาราซโซ ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐอลาบามาชี้ว่าความเหนื่อยล้าเรื่องมาตรการป้องกันตัวของบุคคลจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญทำให้ผู้คนติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้นได้โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวที่เราต้องถูกจำกัดอยู่ในตัวอาคาร อย่างไรก็ตามมีหลักฐานยืนยันว่ามาตรการที่ว่านี้ใช้ได้ผลในแถบซีกโลกใต้ซึ่งเพิ่งจะผ่านฤดูไข้หวัดใหญ่มา เพราะมาตรการป้องกันตัวสำหรับโควิด-19 ในออสเตรเลียช่วยลดจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จากกว่า 60,000 รายของเดือนสิงหาคมปีที่แล้วเหลือเพียง 107 รายในปีนี้
สำหรับในสหรัฐเองนั้นมีคนอเมริกันราว 5 - 20% ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ทุกปีและในจำนวนนี้ก็มีผู้เสียชีวิตตั้งแต่ 12,000 รายจนถึง 61,000 รายโดยขึ้นกับความรุนแรงของสายพันธุ์ในแต่ละปี ทั้งนี้ตามข้อมูลของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐ