ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ความจริงคืออะไร? เมื่อ ‘ทรัมป์’ อ้าง ผู้อพยพชาวจีนแอบตั้ง ‘กองทัพ’ ในสหรัฐฯ


แฟ้มภาพ - ผู้อพยพชาวจีนที่บริเวณพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก เมื่อ 24 ต.ค. 2566
แฟ้มภาพ - ผู้อพยพชาวจีนที่บริเวณพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก เมื่อ 24 ต.ค. 2566

อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันในการลงชิงชัยเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้งในปีนี้ หยิบยกประเด็นผู้อพยพชาวจีนขึ้นมาใช้ในการหาเสียง โดยเน้นการกล่าวโจมตีกลุ่มคนเหล่านี้เป็นระยะ ๆ โดยไม่มีหลักฐาน

ยกตัวอย่างเช่น ในเวทีหาเสียงที่เมืองชเน็ควิลล์ รัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา ทรัมป์บอกกับผู้ที่มาร่วมฟังการปราศรัยว่า จำนวนชาวจีนราว 31,200 คนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เป็นพวกที่อยู่ในวัยที่เป็นทหารได้และส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ชาย

อดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ขณะหาเสียงที่เมืองชเน็คส์วิลล์ รัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อวันที่ 13 เมษายน
อดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ขณะหาเสียงที่เมืองชเน็คส์วิลล์ รัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อวันที่ 13 เมษายน

ทรัมป์กล่าวด้วย “มอง ๆ ดูแล้ว คนกลุ่มนี้พยายามสร้างกองทัพเล็ก ๆ ในประเทศเราอยู่หรือเปล่านะ นั่นเป็นแผนของพวกเขาหรือเปล่า และไบเดนไม่รู้อะไรเลยเพราะเขาไม่ระแคะระคายอะไรเลย

แต่สำหรับกลุ่มผู้อพยพที่ว่านี้ ความเป็นจริงนั้นดูแตกต่างจากสิ่งที่อดีตผู้นำสหรัฐฯ กล่าวไว้ไม่น้อย

สำนักข่าวเอพีได้พูดคุยกับ หวัง กัง ผู้อพยพชาวจีนวัย 36 ปีที่ลี้ภัยจากเมืองอู่ฮั่นที่เป็นบ้านเกิด เพื่อมาหาอนาคตทางการเงินที่ดีกว่าในสหรัฐฯ ด้วยการเดินทางข้ามพรมแดนมาโดยผิดกฎหมายผ่านจุดข้ามแดนทางใต้ของสหรัฐฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ต้องใช้ชีวิตยิ่งกว่าหาเช้ากินค่ำในย่านฟลัชชิง ของมหานครนิวยอร์ก

ทุกวัน หวัง จะมายืนรอกับชายชาวจีนที่เป็นผู้อพยพเหมือนกันที่หน้าร้านเบเกอรีและร้านขายยาของชาวจีนแห่งหนึ่ง เพื่อรอว่าจะมีคนมาจ้างไปทำงานที่ไซต์ก่อสร้างหรือที่ฟาร์มไหน หรือจ้างไปช่วยขนย้ายของหรือไม่ ซึ่งก็ไม่ใช่ว่า เขาจะโชคดีได้งานทำทุกวัน

ส่วน เฉิน เหวิง เป็นผู้อพยพชาวจีนอีกรายที่ลี้ภัยมาสหรัฐฯ เพราะความกลัวว่าจะถูกทางการจับตัวในข้อหาต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีน

เฉิน หวัง ผู้อพยพชาวจีน
เฉิน หวัง ผู้อพยพชาวจีน

เฉิน เล่าว่า ตนเองถูก “เชิญมาดื่มน้ำชา” (พูดคุยกับตำรวจ) สองครั้งเมื่อตอนที่อยู่ในจีน และถูกเตือนให้ระวังไม่ทำผิดอีกมิฉะนั้นจะถูกดำเนินคดีทางอาญา เลยรู้สึกกลัวว่าจะถูกจับกุมในที่สุด จึงเดินทางมาสหรัฐฯ

เขาเล่าว่า สิ่งที่เขาทำก่อนจะได้รับเชิญไป “ดื่มน้ำชา” ก็คือ การโพสต์คอมเมนท์ที่ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนทางทวิตเตอร์

ในเวลานี้ เฉิน เป็นคนไร้บ้านและอาศัยอยู่ในเต็นท์ ระหว่างรอว่า สักวันจะได้รับสถานภาพผู้อพยพที่ถูกกฎหมายเสียที

ภาพความยากลำบากของผู้อพยพชาวจีนเช่นนี้แตกต่างจากภาพที่ทรัมป์และสมาชิกพรรครีพับลิกันรายอื่น ๆ มักนำเสนอว่า เป็นการประสานกลุ่มของชายชาวจีน “ในวัยรับราชการทหาร” มาสหรัฐฯ เพื่อตั้ง “กองทัพ” และโจมตีอเมริกา ซึ่งเป็นประเด็นที่สื่อหัวอนุรักษ์นิยมและผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากนำไปขยายความต่อมากมาย

หม่า จิ้ว นักธุรกิจจากนิวยอร์กที่ให้การสนับสนุนการให้ที่พักพิงแก่ผู้อพยพในย่านฟลัชชิง เขตควีนส์ นครนิวยอร์ก บอกกับเอพีว่า “มีแต่นักการเมืองที่ไร้สติที่สุดในสหรัฐฯ เท่านั้นที่พูดอย่างนั้นได้”

หม่า จิ้ว ผู้ช่วยจัดหาที่พักพิงแก่ผู้อพยพชาวจีนในย่านฟลัชชิง นครนิวยอร์ก
หม่า จิ้ว ผู้ช่วยจัดหาที่พักพิงแก่ผู้อพยพชาวจีนในย่านฟลัชชิง นครนิวยอร์ก

หม่า กล่าวว่า “เราจะคิดว่าคนเหล่านี้ที่ต่อต้านและละทิ้งจีนมา ทิ้งครอบครัวและการงานไว้เบื้องหลัง และเดินทางมาสหรัฐฯ เพื่อมาล้มล้าง(สหรัฐฯ) ไม่ได้” และว่า “หลายคนนั้นไม่ได้ใครหนุนหลังอยู่เลยเมื่อเดินทางมาถึงที่นี่ ไม่รู้จะไปต่ออย่างไรในอนาคต(ด้วย) ... พวกเขาต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ พวกเขาสูญเสียอย่างมากที่จีนไปแล้ว ดังนั้น พวกเขาจึงต้องการความช่วยเหลือเมื่อมาถึง

แต่ขณะที่ประเด็นนี้ยังร้อนอยู่ ผนวกกับความกังวลด้านภัยคุกคามทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีนที่มุ่งหาผลประโยชน์ทางการเมืองใส่ตน องค์กรเคลื่อนไหวสนับสนุนผู้มีเชื้อสายเอเชียต่าง ๆ เริ่มห่วงว่า การใช้วาจาเช่นนั้นอาจทำให้เกิดการล่วงละเมิดก่อกวนและความรุนแรงต่อชุมชนชาวเอเชียที่ประสบปัญหาการแสดงความเกลียดชังเพิ่มขึ้นมากมายจากกรณีกระแสการเกลียดกลัวชาวต่างชาติเพราะการระบาดใหญ่ของโควิด-19

ซินเธีย ชอย ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร Stop AAPI Hate และผู้อำนวยการบริหารร่วมของ Chinese for Affirmative Action ระบุในแถลงการณ์ที่ส่งให้กับเอพี ว่า “วาทศาสตร์ที่ลดทอนความเป็นมนุษย์และการโจมตีอย่างโจ่งแจ้งของทรัมป์ต่อชุมชนผู้อพยพจะมีแต่เติมเชื้อเพลิงลงไปในความเกลียดชังไม่เพียงแต่สำหรับผู้อพยพชาวจีนเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับชาวอเมริกันเชื้อสายจีนในสหรัฐฯ ด้วย” และว่า “ท่ามกลางสภาพบรรยาการทางการเมืองที่ร้อนแรงอยู่แล้วในปีที่มีการเลือกตั้งนี้ เราต่างรู้ดีว่า วาทศาสตร์เช่นนั้นสามารถเป็นอันตรายได้มากเพียงใด

ส่วน เกรกก์ ออร์ตัน ผู้อำนวยการ National Council of Asian Pacific Americans กล่าวว่า ชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายจีนหลายแห่งยังคง “อยู่ในภาวะหวาดกลัว” และว่า ชาวเอเชียบางคนยังรู้สึกไม่สบายใจหากต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะด้วยซ้ำ

สำหรับมุมมองของผู้ถูกกล่าวหา อย่าง หวัง กัง ผู้อพยพชาวจีนจากเมืองอู่ฮั่น ที่ต้องรอนแรมเป็นเวลาหลายสัปดาห์ผ่านประเทศเอกวาดอร์มายังชายแดนทางใต้ของสหรัฐฯ และถูกควบคุมตัวในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นเวลา 48 ชั่วก่อนจะสามารถเดินทางมายังนิวยอร์กได้ กล่าวว่า เรื่องที่ผู้อพยพชาวจีนพยายามตั้งกองทัพนั้น “ไม่มีอยู่จริงเลย” ในหัวของผู้อพยพที่เขาได้พบเจอมา เพราะ “มันเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะเดินเท้าเป็นเวลากว่าเดือน” เพียงเพื่อมาตั้งกองทัพ พร้อมกล่าวว่า “เรามาที่นี่เพื่อหาเงิน”

เอพีได้พูดคุยกับผู้อพยพหลายคนในย่านฟลัชชิง เขตควีนส์ มหานครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้มีเชื้อสายจีนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และหลายคนบอกว่า ที่เดินทางมาสหรัฐฯ นั้นเพื่อหลบหนีความยากจนที่เกิดขึ้นจากมาตรการล็อกดาวน์ควบคุมการระบาดโควิด-19 ของจีน หรือไม่ ก็หนีภัยความเสี่ยงที่จะถูกจับกุมคุมขังในสังคมจีนที่ไม่เปิดโอกาสให้พูดหรือใช้สิทธิทางศาสนาของตนโดยเสรี

หลายคนบอกด้วยว่า หลังมาถึงสหรัฐฯ แล้ว ชีวิตก็ยังตกระกำลำบากต่อไป และไม่ได้มีอะไรเหมือนที่เคยจินตนาการไว้ก่อนหน้าเลย

เอพีรายงานว่า นับตั้งแต่ปลายปี 2022 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ของจีน สหรัฐฯ รายงานการเพิ่มขึ้นอย่างมากของจำนวนผู้อพยพชาวจีน และในปี 2023 ทางการสหรัฐฯ ได้จับกุมชาวจีนกว่า 37,000 คนที่บริเวณชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าปีก่อนหน้าถึงกว่า 10 เท่า โดยสถิติในเดือนธันวาคมนั้นพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 5,951 คน ก่อนที่ตัวเลขจะค่อย ๆ ลดลงในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้

เมื่อไม่นานมานี้ สหรัฐฯ และจีนก็เพิ่งเริ่มดำเนินแผนการความร่วมมือกันใหม่เพื่อส่งผู้อพยพชาวจีนที่เข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมายกลับประเทศ

แม้จำนวนผู้อพยพชาวจีนที่ข้ามแดนเข้ามายังสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายจะมีจำนวนถึงหลายหมื่นคน ก็ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่บ่งชี้ว่า คนเหล่านี้พยายามจะสร้างกองทัพหรือเครือข่ายการฝึกอบรบทางทหารแต่อย่างใด

ชาวจีนที่ต่อต้านรัฐบาลกรุงปักกิ่งและผู้อพยพทั้งใหม่และเก่า ร่วมประท้วงการประชุมใหญ่รัฐบาลจีน ที่มอนเตเรย์ปาร์ค ใกล้นครลอสแอนเจลิส เมื่อ 3 มี.ค. 2567
ชาวจีนที่ต่อต้านรัฐบาลกรุงปักกิ่งและผู้อพยพทั้งใหม่และเก่า ร่วมประท้วงการประชุมใหญ่รัฐบาลจีน ที่มอนเตเรย์ปาร์ค ใกล้นครลอสแอนเจลิส เมื่อ 3 มี.ค. 2567

และขณะที่ ข้อมูลทางการสหรัฐฯ ยืนยันว่า ผู้อพยพเข้ามาส่วนมากจะเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นคนโสด ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการระบุว่า มีผู้อพยพที่เป็นชายมากกว่าที่เป็นหญิงที่เลือกเดินทางผ่านเส้นทางที่เต็มไปด้วยอันตรายมาถึงสหรัฐฯ โดยแหล่งข่าวในย่านฟลัชชิงตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงถึงกว่า 10,000 ดอลลาร์ต่อหัว สำหรับค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าจ้างไกด์ท้องถิ่นและเงินติดสินบนเจ้าหน้าที่ตำรวจตามประเทศต่าง ๆ ที่เดินทางผ่าน หรือไม่ก็เป็นเพราะผลกระทบจากนโยบายบุตรคนเดียวของจีนที่ทำให้มีประชากรผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

ผู้อพยพวัย 35 ปีรายหนึ่งที่ระบุว่า ใช้แซ่ “หยิน” บอกว่า การเดินทางอพยพนี้อันตรายเกินกว่าจะให้ภรรยาและลูก ๆ ของเขามาด้วยได้ จึงตัดสินใจให้อยู่ที่จีนต่อไปก่อน

อย่างไรก็ดี ผู้นำส่วนงานข่าวกรองของสหรัฐฯ มีความวิตกกังวลอย่างมากอยู่แล้วเกี่ยวกับภัยคุกคามจากรัฐบาลเผด็จการของจีนต่อสหรัฐฯ ผ่านการจารกรรมและวิธีการทางทหารต่าง ๆ รวมทั้งช่องทางอื่น ๆ ขณะที่ มีกรณีการก่ออาชญากรรมมากมายโดยผู้อพยพชาวจีนด้วย โดยรวมถึง การจับกุมชาวจีนรายหนึ่งในเดือนมีนาคมจากกรณีลอบเข้าไปในฐานทัพสหรัฐฯ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่จะมาสนับสนุนการยืนยันว่า ผู้อพยพจากจีนนั้นเดินทางมาสหรัฐฯ เพื่อต่อสู้กับชาวอเมริกันเลย

ส่วนสตีเวน เชิง ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารของทีมงานหาเสียงของทรัมป์ ระบุในคำแถลงที่ส่งทางอีเมลให้กับผู้สื่อข่าวว่า ชาวอเมริกันทุกคนควรกังวลเกี่ยวกับชายชาวจีนที่อยู่ในวัยเป็นทหารได้และเดินทางเข้ามาสหรัฐฯ โดยระบุว่า “บุคคลเหล่านี้ไม่เคยถูกคัดกรองตรวจสอบ และเราก็ไม่ทราบเลยว่า พวกเขามีสายสัมพันธ์กับใครหรือมีความตั้งใจอะไร

เชิง ยังกล่าวด้วยว่า “จุดนี้ถือเป็นตัวอย่างอันเป็นอันตรายที่เปิดทางให้กับบุคคลที่ทำอันตรายหรือทำการที่ผิดกฎหมาย หรือบุคคลที่อาจทำการชั่วร้ายเพื่อหาประโยชน์จากพรมแดนที่แทรกซึมเข้ามาได้ง่ายของไบเดน เพื่อส่งชายในวัยรับราชการทหารได้จำนวนนับไม่ถ้วนเข้ามายังสหรัฐฯ อย่างอิสระเต็มที่

แฟ้มภาพ -- ส.ส.ไมค์ การ์เซีย จากรัฐแคลิฟอร์เนีย สังกัดพรรครีพับลิกัน
แฟ้มภาพ -- ส.ส.ไมค์ การ์เซีย จากรัฐแคลิฟอร์เนีย สังกัดพรรครีพับลิกัน

ส.ส.ไมค์ การ์เซีย จากรัฐแคลิฟอร์เนียที่สังกัดพรรครีพับลิกัน เห็นด้วยกับคำกล่าวข้างต้น และชี้ว่า “พวกนั้นเป็นผู้ชายวัยพร้อมรบ หลัก ๆ แล้วเป็นคนโสด ซึ่งคุณรู้ดีว่า นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

และในระหว่างพูดคุยกับ มาเรีย บาร์ติโรโม ผู้ประกาศข่าวของสถานีข่าวฟ็อกซ์ นิวส์ ส.ส.การ์เซีย ยังพยักหน้าเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า ผู้อพยพเข้าประเทศอาจถูกใช้งานเป็น “ผู้ก่อวินาศกรรม” ในภายหลัง หากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง “สั่งการลงมา”

ซัปนา เชอร์ยัน ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าวว่า คำกล่าวอ้างเกี่ยวกับผู้อพยพชาวจีนที่ไม่หลักฐานรับรอง สะท้อนประวัติศาสตร์อันยาวนานของความรู้สึกเหมารวมที่แพร่หลายไปทั่วว่า คนเอเชียไม่ใช่คนของประเทศนี้ ซึ่งเป็นแนวความคิดที่เติมเชื้อเพลิงเข้าไปในการก่อเหตุรุนแรงต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศจีนยังบอกกับเอพี ว่า คำกล่าวอ้างของทรัมป์เกี่ยวกับผู้อพยพชาวจีนนั้นเป็น “การจับแพะชนแกะข้อเท็จจริงที่แย่มาก ๆ” ขณะที่ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ ก็ไม่ตอบคำร้องขอความเห็นจากผู้สื่อข่าวต่อกรณีนี้

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG