ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ซอฟต์แบงก์ญี่ปุ่นเผยลงทุน 'แสนล้านดอลลาร์' อเมริกายุคทรัมป์


โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และมาซาโยชิ ซัน ซีอีโอของกลุ่มธุรกิจ ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป (SoftBank Group) แถลงข่าวร่วมกันเมื่อวันจันทร์ ที่บ้านพักมาร์-อะ-ลาโก ของทรัมป์ ที่รัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2024
โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และมาซาโยชิ ซัน ซีอีโอของกลุ่มธุรกิจ ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป (SoftBank Group) แถลงข่าวร่วมกันเมื่อวันจันทร์ ที่บ้านพักมาร์-อะ-ลาโก ของทรัมป์ ที่รัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2024

โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และมาซาโยชิ ซัน ซีอีโอของกลุ่มธุรกิจ ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป (SoftBank Group) แถลงข่าวร่วมกันเมื่อวันจันทร์ ที่บ้านพักมาร์-อะ-ลาโก ของทรัมป์ ที่รัฐฟลอริดา ประกาศลงทุน 100,000 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐฯ ในช่วงสี่ปีข้างหน้า และจะสร้างงาน 100,000 ตำแหน่งในอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ของอเมริกา

มาซาโยชิ ซัน กล่าวว่า การตัดสินใจเข้ามาลงทุนในสหรัฐฯ เกิดขึ้นเพราะชัยชนะของทรัมป์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนพฤศจิกายน โดยระบุว่า "ระดับความมั่นใจของผมในเศรษฐกิจสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นอย่างมากหลังจากชัยชนะของทรัมป์ และนั่นคือเหตุผลที่ผมตื่นเต้นที่จะเข้าร่วมลงทุน 100,000 ล้านดอลลาร์ และสร้างงาน 100,000 ตำแหน่งในสหรัฐฯ"

ด้านโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวย้อนไปเมื่อแปดปีก่อนเมื่อตนชนะการเลือกตั้งสมัยแรก ซึ่งซอฟต์แบงก์ได้สัญญาไว้ในครั้งนั้นว่าจะลงทุนมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ในอเมริกาและสร้างงาน 50,000 ตำแหน่ง "และพวกเขาได้ทำเช่นนั้นจริง ๆ "

ทรัมป์ยังพูดกับซีอีโอของซอฟต์แบงก์ต่อ เพื่อให้เพิ่มเงินลงทุนเป็น 200,000 ล้านดอลลาร์ แต่ซันยังคงยืนยันตัวเลขเดิม แต่รับปากว่า "จะพยายาม" เพิ่มเป็น 200,000 ล้านดอลลาร์ให้ได้ และชมทรัมป์ว่าเป็น "นักต่อรองที่ดี" พร้อมเสียงหัวเราะ

นักลงทุนแห่งแดนอาทิตย์อุทัย

มาซาโยชิ ซัน ก่อตั้งบริษัทซอฟต์แบงก์ เมื่อปี 1981 เมื่อเขาอายุ 24 ปี และยกระดับจนก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนด้านเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก ปัจจุบันซอฟต์แบงก์ลงทุนในกองทุนมากมาย และถือหุ้นในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำหลายร้อยแห่ง ตั้งแต่ด้านโทรคมนาคม หุ่นยนต์ อีคอมเมิร์ช และเอไอ

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของซันนั้นมีทั้งประสบความสำเร็จและความล้มเหลว โดยในช่วงรุ่งเรืองเมื่อต้นปี 2000 เขาเคยอ้างว่าตนเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกด้วยทรัพย์สิน 78,000 ล้านดอลลาร์ แต่หลังเหตุการณ์ฟองสบู่ดอทคอมแตกในอีกไม่กี่เดือนต่อมา คาดว่าทรัพย์สินของเขาหายไปกว่า 90%

ซันเริ่มก่อร่างธุรกิจของตนเองขึ้นมาใหม่ด้วยการลงทุน 20 ล้านดอลลาร์ซื้อหุ้นของบริษัทอีคอมเมิร์ชจีนที่ยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก ชื่อว่า อาลีบาบา (Alibaba) ก่อนที่บริษัทนี้จะเติบโตอย่างรวดเร็วจนเข้าตลาดหุ้นในปี 2014 ด้วยราคาหุ้นที่สูงขึ้น 2,900 เท่าจากราคาที่ซอฟต์แบงก์เข้าซื้อ ทำให้ซอฟต์แบงก์มีมูลค่าหุ้นในอาลีบาบาถึง 58,000 ล้านดอลลาร์ในตอนนั้น

นอกจากนี้ ซันยังมีส่วนสำคัญในการควบรวมกิจการของสองบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของสหรัฐฯ คือ ที-โมไบล์ (T-Mobile) และ สปรินท์ (Sprint) เมื่อปี 2020 แต่อีกสองปีต่อมา ซอฟต์แบงก์สูญเสียมหาศาลกับการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ วีเวิร์ค (WeWork) และอีกหลายบริษัท

มังกร VS อินทรี

ลีโอเนล บาร์เบอร์ อดีตหัวหน้ากองบรรณาธิการของ Financial Times ผู้เขียนหนังสืออัตชีวประวัติของซีอีโอซอฟต์แบงก์ 'Gambling Man: The Wild Ride of Masayoshi Son' ซึ่งจะตีพิมพ์ในเดือนหน้า กล่าวกับวีโอเอว่า การปรากฏตัวของซันที่มาร์-อะ-ลาโก เมื่อวันจันทร์นั้น เป็นมากกว่าแค่เรื่องของนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการเอาใจว่าที่ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ เพื่อประโยชน์ด้านธุรกิจ ดังเช่นเมื่อแปดปีก่อน

"ชัดเจนว่า โลกตอนนี้เปลี่ยนไปจากเมื่อแปดปีที่แล้ว เรามีสงครามทั่วโลก และยังมีความขัดแย้งระหว่างจีนกับโลกตะวันตก" บาร์เบอร์กล่าว

ในการสัมภาษณ์ซันครั้งล่าสุด บาร์เบอร์บอกว่านักธุรกิจชาวญี่ปุ่นผู้นี้บอกกับเขาว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก ในฐานะนักลงทุน ซอฟต์แบงก์จำเป็นต้องตัดสินใจเลือกระหว่างจีนกับชาติตะวันตก "ซึ่งเราเลือกตะวันตก"

นักเขียนผู้นี้มองว่า การที่ซันแถลงข่าวร่วมกับทรัมป์เมื่อวันจันทร์ จึงเป็นการส่งสัญญาณว่า เขาเลือกอเมริกาและทรัมป์

แสนล้านดอลลาร์มาจากไหน?

ถึงกระนั้น บาร์เบอร์ยังคงตั้งข้อสงสัยว่า ซีอีโอของซอฟต์แบงก์จะสามารถหาเงิน 100,000 ล้านดอลลาร์มาจากไหนตามที่รับปากไว้กับทรัมป์ และในการแถลงข่าวก็มิได้ระบุรายละเอียดของการลงทุนที่จะเกิดขึ้นแต่อย่างใด

"ผมไม่ได้บอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ยังนึกไม่ออกว่าเขาจะหาเงินมหาศาลนั้นมาอย่างไร" บาร์เบอร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม นักเขียนผู้นี้เชื่อว่า มาซาโยชิ ซัน มักสร้างความแปลกใจได้เสมอ ดังนั้นอย่าประเมินเขาต่ำไป "เพราะเขาคืออัจฉริยะในเรื่องนี้"

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG