ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ รัฐไอโอวาจะเป็นสนามทดสอบแรกของผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันตามกระบวนการคอคัส ที่เป็นวิธีเฟ้นหาผู้สมัครลงรับเลือกตั้งประธานาธิบดีขั้นต้นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งอดีตผู้นำสูงสุดอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงทำได้ดีกว่าคู่แข่งรายอื่นในแง่ความนิยม แม้ลงพื้นที่น้อยกว่า
เป็นที่คาดกันว่า สมาชิกพรรครีพับลิกัน จะฝ่าสภาพอากาศหนาวเย็นอย่างหนัก ไปร่วมกระบวนการคอคัสในจุดนัดหมายจำนวนราว 1,670 แห่งทั่วรัฐ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครลงแข่งขันประธานาธิบดี และผู้แทนระดับรัฐที่จะไปลงคะแนนเสียงรับรองผู้ในการประชุมพรรคที่จะเกิดขึ้นต่อไปในระดับประเทศ
แม้การชนะคอคัสที่รัฐไอโอวาจะไม่ได้รับประกันว่าผู้สมัครจะได้เป็นตัวแทนพรรคในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ก็ถือเป็นบททดสอบแรก ๆ ของผู้สมัครในแง่ของทักษะการการสร้างความนิยมทางการเมืองและการบริหารจัดการ และยังเป็นจุดถอยแรก ๆ ของผู้สมัครที่ตัดสินใจจะไม่แข่งขันต่อ ก่อนที่การเลือกตั้งขั้นต้นครั้งถัดไปจะมีขึ้นในรัฐนิวแฮมป์เชอร์
ไมเคิล ลิวอิส-เบค ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยไอโอวา กล่าวกับวีโอเอว่า สิ่งสำคัญของคอคัสครั้งแรก อยู่ที่การเป็น “ครั้งแรก” ที่แม้จะไม่ได้บ่งบอกชัยชนะขั้นเด็ดขาด แต่ก็ถือเป็นความได้เปรียบอย่างใหญ่หลวง
“ถ้าคุณทำได้ดีที่ไอโอวา นั่นทำให้คุณได้เปรียบเมื่อคุณไปต่อที่นิวแฮมป์เชอร์ และถ้าคุณทำได้ดีในไอโอวาและนิวแฮมป์เชอร์ มันก็เสริมแรงมากยิ่งขึ้น” ลิวอิส-เบค กล่าว
ยุทธภูมิการเมืองสำคัญ
มีอยู่หลายเหตุผลที่คอคัสในไอโอวาเป็นสนามแข่งขันที่สำคัญ แต่หนึ่งในสาเหตุที่ชัดเจนที่สุดก็คือเงื่อนไขของกระบวนการคอคัส ที่เรียกร้องความเอาจริงเอาจังจากตัวผู้เข้าร่วมเมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งขั้นต้น
สำหรับการเลือกตั้งขั้นต้น ผู้ลงคะแนนเสียงเพียงแค่ต้องเดินทางไปหย่อนบัตรเลือกตั้งตามวันที่เลือกเอาไว้ แต่สำหรับคอคัส ผู้ลงคะแนนเสียงต้องเดินทางไปยังจุดนัดพบตามวันและเวลาที่กำหนดในช่วงกลางคืนของวันทำงานในฤดูหนาว คัดเลือกประธานและเลขานุการของกระบวนการคอคัส ณ จุดนั้น ฟังแถลงของตัวแทนผู้สมัครแต่ละคน ก่อนจะลงคะแนนเสียงและนับคะแนนกันในวันเดียวกัน
กระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาอยู่ระหว่าง 1-2 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณของผู้เข้าร่วม
เงื่อนไขที่เรียกร้องความจริงจังข้างต้น ทำให้นักการเมืองมักรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอย่างยิ่งใหญ่ในไอโอวา และมีปฏิสัมพันธ์กับฐานเสียงแบบถึงเนื้อถึงตัวมากกว่า โดยบ่อยครั้ง ผู้สมัครประกาศว่าจะไปเยือนทุกเขตปกครองเคาน์ตีของรัฐนี้ที่มีอยู่ 99 แห่ง
ลงพื้นที่น้อยกว่าคนอื่น แต่ ‘ทรัมป์’ ยังเต็งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ ที่กำลังมีคะแนนนิยมนำห่างในปัจจุบัน กลับมีแนวทางการวางตัวในเกมคอคัสของไอโอวาต่างออกไป ตามมุมมองของคริสโตเฟอร์ แลริเมอร์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ธเทิร์น ไอโอวา
“ในปี 2016 ทรัมป์ไม่ได้ชนะคอคัส แต่เขาได้ที่สอง และเขาไม่ได้มีตำแหน่งแห่งหนที่แข็งแรงนักในไอไอวา”
“รอบนี้ เขามาที่รัฐนี้บ่อยขึ้น แต่ตามความเข้าใจของผมก็คือ ความเป็นองค์กรจัดตั้งของเฮลีย์และเดอแซนติสมีความเข้มแข็งกว่า และพวกเขาก็มาที่รัฐนี้อย่างสม่ำเสมอกว่า” แลริเมอร์กล่าว
ที่ผ่านมา ทรัมป์ปรากฏตัวในการหาเสียงที่ไอโอวาเพียงไม่กี่สิบครั้งตามงานใกล้ชุมชนขนาดใหญ่ และมักจะใช้ทีมงานหาเสียงในการไปอบรมเรื่องคอคัสและเชิญชวนคนให้ออกมาลงคะแนนเสียงแทนที่จะไปด้วยตัวเอง
แต่ยุทธศาสตร์หาเสียงของทรัมป์เหมือนจะประสบผลสำเร็จ เพราะในบางพื้นที่ของไอโอวา มีฐานเสียงที่นิยมในตัวทรัมป์มากกว่า 50% ทิ้งห่างคู่แข่งหลัก ๆ อย่างนิกกี เฮลีย์ อดีตผู้ว่าการรัฐเซาธ์ แคโรไลนา และรอน เดอซานติส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา ที่ทำได้เพียงแข่งขันกันชิงตำแหน่งเบอร์สองด้วยคะแนนนิยมราว 20%
ด้านผู้สมัครรายอื่นอย่างวิเวก รามาสวามีและคริส คริสตี ที่เพิ่งถอนตัวไปเมื่อวันพุธนั้นอยู่ในลำดับที่รั้งท้ายไกลออกไปอีก
ต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แลริเมอร์ตั้งคำถามว่า การรณรงค์หาเสียงแบบเจอหน้า ยังมีความสำคัญแค่ไหน “หรือเราควรจะมองทรัมป์ในแบบที่ต่างออกไป เพราะว่าเขามีความแตกต่างไปจากผู้สมัครคนอื่น ๆ ที่สุดเท่าที่เราเคยเห็นมา”
ทั้งนี้ สภาพอากาศที่หนาวเย็นและหิมะที่ตกหนักเป็นพิเศษ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเดินทางออกมาร่วมลงคะแนนเสียงน้อยลง โดยเฉพาะในหมู่ผู้สูงอายุ แม้ชาวไอโอวาจะคุ้นชินกับอากาศหนาวเย็นก็ตาม
ในปีนี้ จะมีเพียงพรรครีพับลิกันที่จัดคอคัสในไอโอวา เนื่องจากพรรคเดโมแครตได้เปลี่ยนวิธีเป็นการลงคะแนนเสียงผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งเริ่มทำมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น