การแข่งขันเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน กำลังเช้าสู่ช่วงสำคัญในการเลือกตั้งขั้นต้นวันอังคารนี้ ซึ่งอาจตัดสินได้ว่า โดนัลด์ ทรัมพ์ จะได้เป็นตัวแทนพรรคเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือไม่ ในขณะเดียวกัน ผู้สมัครคนอื่นๆก็เหลือเวลาอีกไม่มากนักที่จะสกัดไม่ให้ทรัมพ์เป็นผู้ชนะ
วันอังคารที่ 15 มีนาคมนี้ จะมีการเลือกตั้งขั้นต้นใน 5 รัฐ ได้แก่ ฟลอริด้า โอไฮโอ มิสซูรี่ อิลลินอยล์ และนอร์ธ-แคโรไลน่า ซึ่งล้วนเป็นรัฐที่ผู้ชนะจะได้จำนวนผู้แทน (Delegate) ทั้งหมด นั่นทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญในฐานะที่อาจชี้ขาดว่า ใครจะได้เป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากว่ามหาเศรษฐีปากกล้า โดนัลด์ ทรัมพ์ ชนะทั้ง 5 รัฐ ก็แทบจะเรียกได้ว่า “นอนมา” กับตำแหน่งตัวแทนพรรค
ดูเหมือนการพูดจาแบบโผงผางตรงไปตรงมาแบบที่เรียกว่า “ขวานผ่าซาก” ของโดนัลด์ ทรัมพ์ จะถูกใจบรรดาผู้ที่สนับสนุนเขาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นแรงงานที่เป็นคนผิวขาว
และแม้การที่ทรัมพ์รับปากว่าจะทำเรื่องต่างๆ มากมายหากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี จะสร้างกระแสวิจารณ์และความสงสัยว่าเขาจะทำได้หรือไม่นั้น ดูเหมือนประเด็นนี้จะไม่ได้ทำให้ผู้ที่นิยมในตัวโดนัลด์ ทรัมพ์ เกิดความเคลือบแคลงแต่อย่างใด บางคนบอกว่าแม้เขาจะทำสิ่งที่รับปากไว้ไม่ได้หรือได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง แต่เพียงแค่เขาพูดออกมาว่าพยายามจะทำก็เพียงพอแล้วสำหรับตน
คุณ Henry Olsen นักวิเคราะห์แห่งศูนย์ Ethics and Public Policy ในกรุงวอชิงตัน ชี้ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดกระแสความนิยมในตัวนายโดนัลด์ ทรัมพ์ คือเขาพูดในสิ่งที่ตรงกับความโกรธหรือความไม่พอใจลึกๆ ของบรรดาผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งของพรรครีพับลิกัน
คุณ Olsen บอกว่าคนเหล่านี้รู้สึกว่าตนถูกละเลยจากทั้งสองพรรคในช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทรัมพ์ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นพวกเดียวกัน คนกลุ่มนี้ไม่ใช่แกนหลักของพรรครีพับลิกัน ไม่ใช่กลุ่มอนุรักษ์นิยมขวาจัดและไม่ใช่กลุ่ม Tea Party ซึ่งถ้าจะให้ระบุก็คงจัดอยู่ในกลุ่มหัวอนุรักษ์นิยมทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ยิ่งทรัมพ์มีคนชื่นชอบมากเท่าไร ดูเหมือนคนที่ไม่ชอบก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะคนที่มองว่าเขาเกเร ต่อต้านคนต่างด้าว เหยียดผิว และสร้างความแตกแยกในหมู่คนอเมริกัน
ความนิยมของโดนัลด์ ทรัมพ์ สร้างความไม่พอใจให้ผู้นำและนักการเมืองของพรรครีพับลิกันบางส่วน หลายคนมองว่าการเลือกตั้งขั้นต้นในวันที่ 15 มี.ค นี้ คือโอกาสสุดท้ายที่จะสกัดกั้นไม่ให้ทรัมพ์ได้เป็นตัวแทนของพรรค โดยเฉพาะการยับยั้งไม่ให้ทรัมพ์ชนะที่รัฐฟลอริด้าซึ่งเป็นฐานเสียงของ สว.มาร์โค รูบิโอ้ หนึ่งในคู่แข่งของทรัมพ์ และที่รัฐโอไฮโอ ฐานเสียงของผู้สมัครอีกผู้หนึ่ง คือผู้ว่าการรัฐโอไฮโอ จอห์น เคซิค ซึ่งมีจำนวน delegate 99 คน และ 66 คน ตามลำดับ
แต่ผลการสำรวจคะแนนนิยมล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ทรัมพ์มีคะแนนนำโด่งที่รัฐฟลอริด้า และสูสีกับผู้ว่าฯ เคซิค ที่รัฐโอไฮโอ
นั่นทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคน รวมทั้งคุณ John Fortier แห่งศุนย์ Bipartisan Policy ในกรุงวอชิงตัน มองว่า ความพยายามที่จะหยุดยั้ง โดนัลด์ ทรัมพ์ ไม่ให้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันนั้น อาจจะสายเกินไปเสียแล้ว
นักวิเคราะห์บางคนมองว่า กระแสนิยมหรือปรากฏการณ์ โดนัลด์ ทรัมพ์ ในขณะนี้ กำลังแสดงให้เห็นถึงความแตกแยกของพรรครีพับลิกัน และเป็นการเน้นย้ำคำถามถึงจุดยืนของพรรครีพับลิกันตลอด 30 ปีที่ผ่านมา นั่นคือแนวคิดอนุรักษ์นิยมยังใช้ได้หรือไม่กับสถานการณ์ปัจจุบัน
(ผู้สื่อข่าว Jim Malone รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)