การที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศยกเลิก และกลับมาให้ความหวังอีกครั้งเรื่องการเจรจาสุดยอดกับผู้นำเกาหลีเหนือภายในช่วงเวลาเพียงข้ามวันเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์ชี้ว่ามักเป็นรูปแบบของการเจรจาต่อรองของประธานาธิบดีทรัมป์เอง ตั้งแต่สมัยทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์ที่ทำไว้กับอิหร่าน ผู้นำสหรัฐฯ ก็ได้กล่าวเสริมว่า ตนยินดีจะเจรจากับอิหร่านอีกครั้ง ถ้าจะทำให้ได้ข้อตกลงควบคุมโครงการนิวเคลียร์ที่ดีขึ้น
และดูเหมือนว่าท่าทีในการเจรจาต่อรองนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะกับอิหร่านเท่านั้น เพราะประธานาธิบดีทรัมป์ก็แสดงออกคล้ายๆ กัน เมื่อประกาศถอนสหรัฐฯ จากข้อตกลงกรุงปารีส รวมทั้งจากข้อตกลงการค้าเสรี TPP ด้วย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นาย Doug Bandow นักวิจัยอาวุโสของสถาบัน CATO บอกว่า นี่เป็นรูปแบบที่คาดหมายได้สำหรับ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ก่อร่างสร้างตัวจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมักขู่ว่าจะถอนตัวจากการเจรจาหากไม่ได้เงื่อนไขข้อตกลงตามที่ตนต้องการ
นักวิเคราะห์ผู้นี้ยังชี้ด้วยว่า ประธานาธิบดีทรัมป์นำทักษะการเจรจาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาใช้กับการเจรจาระหว่างประเทศ คือพยายามกดดันฝ่ายตรงข้ามอย่างหนัก โดยขู่ว่าจะถอนตัว และสันนิษฐานว่าคู่เจรจาก็ต้องการให้มีข้อตกลงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คุณ Doug Bandow ชี้ว่าสิ่งที่อาจใช้ได้ผลในโลกธุรกิจ อาจไม่สำเร็จเสมอไปในเวทีการเจรจาเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งมีความสลับซับซ้อนมากกว่า
เพราะในเวทีการเมืองระหว่างประเทศนั้น เงินหรือผลประโยชน์ทางธุรกิจไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดเสมอไป อีกทั้งยังมีผู้เล่นซึ่งมีบทบาทหลากหลายมากกว่า โดยมีเหตุผลจูงใจต่างๆ กันไป ไม่จำกัดเฉพาะเรื่องตัวเงินเท่านั้น
ส่วนคุณ Gwenda Blair ผู้เขียนอัตชีวประวัติของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า ประธานาธิบดีทรัมป์เติบโตขึ้นมาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยเรียนรู้จากบิดา และเข้าใจเป็นอย่างดีว่าอาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ จะสร้างขึ้นได้อย่างไร โดยไม่จำเป็นต้องทำการบ้านอย่างหนักเหมือนในเรื่องเกาหลีเหนือซึ่งต้องการข้อมูลและความเข้าใจอย่างถ่องแท้มากกว่า
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ โต้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ต้องการข้อตกลงที่ดีกว่าจากการเจรจาต่อรองสำหรับคนอเมริกัน ไม่ว่าข้อตกลงนั้นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอิหร่าน เป็นข้อตกลงเพื่อควบคุมสภาพภูมิอากาศโลก ข้อตกลงการค้าเสรี TPP หรือข้อตกลงเพื่อลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือก็ตาม