ในบรรดาการเดินเรื่องทางกฎหมายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อท้าทายผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การฟ้องร้องบางประเด็นพอจะมีน้ำหนักแต่พวกเขาไม่คิดว่าจะสามารถเปลี่ยนผลเลือกตั้งที่ทรัมป์ ถูกคาดหมายว่าพ่ายเเพ้ต่อ โจ ไบเดน คู่แข่งจากพรรคเดโมเเครต
ที่กำลังเป็นที่จับตามองในตอนนี้คือการยื่นเรื่องร้องเรียนโดยทีมทนายของประธานาธิบดีทรัมป์ในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งผลอย่างไม่เป็นทางการชี้ว่า ไบเดน ชนะในรัฐสมรภูมิดังกล่าว
ทนายของโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการจูงใจให้ศาลเชื่อว่า การเลือกตั้งทางไปรษณีย์ มีปัญหา และให้บัตรเลือกตั้งจำนวนมากที่ถูกลงคะเเนนทางไปรษณีย์เป็นโมฆะ
คำร้องต่อศาลโดยฝ่ายของทรัมป์ระบุว่า กระบวนการที่แตกต่างในการบริหารจัดการบัตรเลือกตั้งทางไปษณีย์และบัตรเลือกตั้งจากการลงคะเเนนด้วยตนเอง มีความแตกต่างกัน และทำให้เกิดปัญหาซึ่งถือได้ว่าเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองอย่างเท่าเทียม
ทีมงานของประธานาธิบดีสหรัฐฯต้องการให้ศาลลงมติยับยั้งมิให้รัฐเพนซิลเวเนียรับรองผลการเลือกตั้ง ซึ่งตามกำหนดจะเกิดขึ้นภายในวันที่ 23 พฤศจิกายน
เดเนียล แลง ผู้อำนวยการร่วม แห่งศูนย์ Campaign Legal Center ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเลือกตั้ง กล่าวว่า การฟ้องร้องในคดีนี้ แม้ “จะมีนำ้หนักกว่าในคดีอื่นๆ แต่มิได้เหตุผลแน่นหนากว่า” ความพยายามของทรัมป์ก่อนหน้านี้
ตั้งแต่วันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 3 พฤศจิกายน ทีมของทรัมป์และเเนวร่วมดำเนินการฟ้องร้องใน 4 รัฐ นอกเหนือจากเพนซิลเวเนีย คือ แอริโซนา มิชิแกน จอร์เจีย และเนวาดา คดีเกือบทั้งหมดถูกศาลปฏิเสธการเดินเรื่อง หรือไม่ก็ถูกสั่งให้มีการเเสดงหลักฐานที่แน่นหนา
สำหรับรัฐเพนซิลเวเนีย ที่มีการต่อสู้ในระดับศาลของรัฐบาลกลาง เดเนียล แลง กล่าวว่า การโหวตทางไปรษณีย์มีกระบวนการที่แตกต่างจากการหย่อนบัตรด้วยตนเอง กระบวนการที่ตามมาจึงไม่เหมือนกัน แต่ก็มิได้หมายความว่าจะไม่เหมาะสม ไม่ปลอดภัย หรือไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กว่ากัน
ฝ่ายของประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า กระบวนการบริหารจัดการ บัตรลงคะเเนนทางไปรษณีย์ 2 ล้าน 6 แสนใบของรัฐนี้ ขาดระบบที่ทำให้เกิดความโปร่งใสและยืนยันความถูกต้องได้
ทั้งนี้ผู้ลงคะเเนนทางไปรษณีย์ส่วนใหญ่เป็นผู้สนับสนุนโจ ไบเดน
ริชาร์ด เอล ฮาร์เซน อาจารย์ด้านกฎหมายเลือกตั้งแห่งมหาวิทยาลัย University of California วิทยาเขต Irvine กล่าวว่าเป็นการยากที่จะอ้างว่าการบริหารจัดการบัตรเลือกตั้งด้วยมาตรการที่ต่างกัน จะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญในเรื่องการคุ้มครองความเท่าเทียม
เขากล่าวว่า ถ้าฝ่ายทรัมป์ โน้มน้าวศาลสำเร็จ อาจถูกตีความได้ต่อไปว่าการใช้สิทธิในรัฐอื่นทั่วประเทศมีปัญหาเช่นเดียวกันหมดและขัดต่อรัฐธรรมนูญทั้งหมด ทั้งนี้ทั่วประเทศ มีผู้ใช้สิทธิ์ทางไปรษณีย์หลายสิบล้านคน
อาจารย์ฮาร์เซนกล่าวว่า การอ้างของทนายฝ่ายทรัมป์ ไม่มีเหตุผลหนักเเน่น หากพิจารณาว่าผู้ใช้สิทธิ์ต่างก็มีทางเลือกว่าจะลงคะเเนนที่หน่วยเลือกตั้งเอง หรือส่งบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์
เขาเสริมด้วยว่า การอ้างเหตุผลนี้ ยังดูเหมือนว่าจะช้าเกินไปเพราะกระบวนการสำหรับการใช้สิทธิ์ทางไปรษณีย์เกิดขึ้นมาเป็นเดือนแล้ว แต่เพิ่งมีการยื่นเรื่องทางกฎหมายในเวลานี้
นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ถูกมองว่ามีปัญหา กับจำนวนคะเเนนที่ไบเดนได้มากกว่าทรัมป์ อาจารย์ไมเคิล อาร์ ดิมิโน แห่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาบัย Widener University กล่าวว่า เป็นการยากที่จะเปลี่ยนผลการเลือกตั้ง แม้ว่าเรื่องจะถูกพิจารณาโดยศาลสูงสุดของสหรัฐฯ หลังจากนี้
อย่างไรก็ตามเขากล่าวว่า การต่อสู้ทางกฎหมายของทรัมป์ในบางคดีมีเหตุผลสนับสนุน เช่นเรื่องการเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งในรัฐเพนซิลเวเนียเปิดกว้างต่อการทำงานของผู้สังเกตการณ์มากขึ้น ในกระบวนการนับคะเเนน
แต่ถึงแม้ว่า ถ้าในที่สุดทีมกฎหมายของทรัมป์สามารถพลิกผลการเลือกตั้งในเพนซิลเวเนีย ผ่านกระบวนการศาลสำเร็จ คะเเนน electoral vote ของคณะผู้เลือกตั้ง ของเขาก็ยังไม่ถึง 270 ที่จะทำให้เขาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองได้
ผู้สันทัดกรณีอีกคนหนึ่งที่แสดงความเห็นในเรื่องนี้ คือทอม สเปนเซอร์ ทนายความที่เคยทำงานให้กับพรรครีพับลิกันและว่าความในคดีประวัติศาสตร์เมื่อ 20 ปีก่อน ให้กับจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่ชิงชัยกับ อัล กอร์ เพื่อเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในครั้งนั้นคดีเรื่องการนับคะเเนนใหม่ดำเนินไปสู่ศาลสูง และทำให้เกิดการสรุปผลการเลือกตั้งซึ่ง บุชเป็นฝ่ายชนะ
ทนายผู้นี้ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองกรรมการบริหารของกองทุน Lawyers Democracy Fund กล่าวว่า ทรัมป์ควรเดินเรื่องตามช่องทางกฎหมายเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่ว่า ประชาชนจะได้มั่นใจต่อผลการเลือกตั้ง อย่างที่ฝ่ายของอัล กอร์ เคยกล่าวไว้เมื่อ 20 ปีก่อน