คนอเมริกันมากกว่าครึ่งยอมรับวิธีการของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในการรับมือกับเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตาม มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่เชื่อว่าการประชุมสุดยอดระหว่าง ปธน.ทรัมป์ กับ ผู้นำคิม จอง อึน ที่สิงคโปร์ เมื่อต้นสัปดาห์นี้ จะสามารถนำไปสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือได้จริง ตามผลการสำรวจของ Reuters/Ipsos
ผลสำรวจชี้ว่า ปธน.ทรัมป์ ได้คะแนนการยอมรับ 51% จากการรับมือกับประเด็นเกาหลีเหนือ โดย 40% บอกว่า ทรัมป์ คือผู้นำที่สมควรได้รับการยกย่องมากที่สุดในการประชุมครั้งนี้ รองลงมาคือ ประธานาธิบดี มูน แจ-อิน ของเกาหลีใต้ ได้ไป 11% และอันดับสาม ผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ได้ไป 7%
ในแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมที่สิงคโปร์ ผู้นำเกาหลีเหนือสัญญาว่าจะเดินหน้าปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี และ ปธน.ทรัมป์ รับปากว่าจะรับประกันความปลอดภัยของเกาหลีเหนือ
40% ของผู้ตอบแบบสอบถาม กล่าวว่า ตนไม่เชื่อว่าทั้งสองประเทศจะสามารถทำได้ตามที่รัปปากไว้ และมีเพียง 26% ที่เชื่อว่าทั้งสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ จะสามารถทำได้ตามที่พูดไว้
นอกจากนี้ 39% เชื่อว่าการประชุมที่สิงคโปร์ได้ช่วยลดภัยคุกคามจากสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ ขณะที่ 37% ไม่เชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นหลังการประชุมดังกล่าว
ผลวิจัยของรอยเตอร์ครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากนโยบายเจรจากับเกาหลีเหนือ แม้ว่ามีเสียงวิจารณ์จากบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ว่า ทรัมป์แทบไม่ได้รับคำยืนยันอย่างหนักแน่นและเป็นทางการจากผู้นำคิม ว่าจะกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดของเกาหลีเหนือ
ในส่วนของการเมืองสหรัฐฯ ดูเหมือนผู้นิยมพรรครีพับลิกันมองเห็นประโยชน์จากการประชุมที่สิงคโปร์มากกว่าผู้นิยมพรรคเดโมแครต กล่าวคือ มีผู้นิยมพรรครีพับลิกันที่เชื่อว่าการประชุมนี้จะช่วยลดภัยความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์มากกว่าผู้นิยมพรรคเดโมแครต ถึงสองเท่า
ถึงกระนั้น ในหมู่ผู้นิยมพรรคเดโมแครตเอง พบว่ามี 30% ที่ยอมรับวิธีการของประธานาธิบดีทรัมป์ ในการรับมือกับเกาหลีเหนือ แม้ว่าจะมีเพียง 12% เท่านั้นที่ยอมรับการทำงานโดยรวมของผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์การเมืองสหรัฐฯ ชี้ว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าความสำเร็จของการประชุมสุดยอด "ทรัมป์ - คิม" ที่สิงคโปร์ จะช่วยสนับสนุนบรรดาผู้ลงสมัครของพรรครีพับลิกัน ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ กลางสมัยในเดือนพฤศจิกายนนี้ ได้หรือไม่
เนื่องจากที่ผ่านมา นโยบายต่างประเทศมักไม่ใช่เรื่องที่คนอเมริกันที่มีสิทธิ์เลือกตั้งส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเท่ากับเรื่องในประเทศและเศรษฐกิจ
แต่คุณรอน บองจีน (Ron Bonjea) นักวางยุทธศาสตร์ของพรรครีพับลิกัน ระบุว่า หากมีความคืบหน้าในเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเกิดขึ้นจริงในช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้ง ก็อาจสร้างแรงจูงใจให้กับผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนได้เช่นกัน