ผู้เเจ้งเเบะเเสรายที่สอง เดินเรื่องร้องเรียน ในกรณีเหตุต้องสงสัยว่าเกิดการกระทำผิด จากการติดต่อยูเครนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการขอให้ต่างชาติช่วยเหลือตนเองทางการเมือง
ผู้เเจ้งเบาะเเส หรือ whistleblower รายนี้ อยู่ในเเวดวงข่าวกรอง และอ้างว่าข้อมูลที่ตนมีนั้น เป็นเรื่องที่ "รับรู้โดยตรง" ในขณะที่การร้องเรียนโดย whistleblower รายแรกได้ทำไปสู่กระบวนการไต่สวนเพื่อขอถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ ออกจากตำแหน่ง
ทนาย มาร์ค ซาอิด ของผู้แจ้งเบาะเเสรายที่สองนี้ กล่าวว่าลูกความของเขาได้ ให้ข้อมูลกับหน่วยงานกำกับดูแลภายในของเครือข่ายงานข่าวกรองสหรัฐฯ
ทนายกล่าวว่าข้อมูลของ whistleblower รายใหม่นี้ สนับสนุนเนื้อหาของการร้องเรียนโดยผู้เเจ้งเบาะเเสรายแรก ซึ่งกล่าวหาว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ กดดันให้ประธานาธิบดียูเครน ช่วยขุดคุ้ยข้อมูลที่อาจให้ร้ายต่อ อดีตรองประธานาธิบดี โจ ไบเดนของสหรัฐฯ ซึ่งต้องการเเข่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯในการเลือกตั้งปีหน้า
การที่ whistleblower รายที่สองกล่าวว่าเป็นผู้รับรู้ข้อมูลโดยตรง เกิดขึ้นหลังจากที่ ประธานาธิบดีทรัมป์ และพวกพยายามลดความนาเชื่อถือของผู้เเจ้งเบาะเเสรายเเรกโดยบอกว่า whistleblower รายเเรก นั้นได้ข้อมูลทางอ้อม ในลำดับสอง หรือลำดับสาม
ก่อนหน้านี้ทำเนียบขาวเปิดเผยบทถอดความฉบับคร่าวๆ ของการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์ และประธานาธิบดียูเครน นายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี้ ซึ่งเนื้อความ สะท้อนถึงการขอร้องให้มีการสืบสวนครอบครัวไบเดน การขอร้องครั้งนั้นมีขึ้น ทั้งๆที่ ไม่มีหลักฐานของการกระทำผิดโดยโจ ไบเดน และลูกชายของเขา ฮันเตอร์ ไบเดน ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทพลังงานแห่งหนึ่งของยูเครน
นอกจากนี้เนื้อหาการส่งข้อความ จากเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นถึงรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น การที่ยูเครนได้รับคำสัญญาว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะเดินทางเยือน หากมีการสอบสวนครอบครัวไบเดน ถือเป็นสัญญาณของการสร้างเงื่อนไขต่างตอบเเทนกันที่อาจเกิดขึ้น
ในวันศุกร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวว่าเขาขอให้ทางการต่างชาติสอบสวน คู่เเข่งทางการเมือง เพราะเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่ต้องปราบปรามคอรัปชั่น
ผู้นำสหรัฐฯกล่าวว่า "นี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง มันเป็นเรื่องคอรัปชั่น"
ส่วน นายอดัม ชิฟฟ์ ส.ส. เดโมเเครต ผู้เป็นกำลังหลักในการไต่สวนขอถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ และรั้งตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองของสภาผู้แทนสหรัฐฯ กล่าวว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ มีสิทธิ์ที่จะเชื่อว่าตนสามารถกดดันประเทศอื่นให้ช่วยเขาทางการเมืองได้ และผู้ที่จะตัดสินว่าความคิดเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ ก็คือสมาชิกพรรครีพับลิกันในสภา
แม้ว่าพรรคเดโมเเครตจะคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ แต่เป็นเสียงข้างน้อยในวุฒิสภา และจะต้องได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว. รีพับลิกันมากถึง 20 คน และ ส.ว. อิสระอีก 2 คน รวมทั้ง ส.ว. เดโมเเครตทั้งหมด ในการลงมติถอดถอนโดนัลด์ ทรัมป์ จากการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าววันศุกร์ว่า ตนน่าจะได้รับชัยชนะ ในการโหวตโดยวุฒิสภา ซึ่งรีพับลิกันคุมเสียงข้างมากอยู่