ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กระพือเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการถกเถียงทางกฎหมายอย่างเผ็ดร้อนอีกครั้ง หลังจากประกาศความตั้งใจว่าจะลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร เพื่อปฏิเสธการให้สัญชาติโดยอัตโนมัติแก่เด็กทุกคนที่เกิดในสหรัฐฯ แต่มีพ่อแม่เป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือไม่ได้เป็นพลเมืองอเมริกัน
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยืนยันในการให้สัมภาษณ์ที่ออกอากาศทาง HBO ว่า กระบวนการปฏิเสธการให้สิทธิในการเป็นพลเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยอัตโนมัติสำหรับเด็กที่เกิดในสหรัฐฯ นั้น กำลังดำเนินอยู่ และจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวด้วยว่า “สหรัฐฯ คือประเทศเดียวในโลกที่ยังให้สิทธิที่ว่านี้” ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากปัจจุบันมี 30 ประเทศทั่วโลกที่ยังคงให้สิทธินี้แก่เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศนั้น รวมทั้งเพื่อนบ้านของสหรัฐฯ คือ แคนาดา และเม็กซิโกด้วย
แม้ว่าหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และ อินเดีย ต่างยกเลิกกฎหมายให้สัญชาติโดยอัตโนมัติแก่เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศเหล่านั้น หรือที่เรียกว่า Jus Soli ไปแล้วก็ตาม
ปธน.ทรัมป์ กล่าวว่า ตนกำลัง หารือเรื่องนี้กับที่ปรึกษาทางกฎหมายซึ่งแจ้งกับตนว่า สามารถยกเลิกกฎหมายนี้ได้โดยไม่ต้องแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนจะมีความเห็นที่ขัดแย้งกันเองในหมู่สมาชิกพรรครีพับลิกันในเรื่องนี้ เพราะในขณะที่ ส.ว. ลินซีย์ แกรห์ม (Lindsey Graham) ประกาศสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของ ปธน.ทรัมป์ อย่างเต็มที่ แต่ ส.ส. พอล ไรอัน (Paul Ryan) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกันเช่นกัน ระบุว่า ปธน.ทรัมป์ ไม่สามารถใช้คำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อยกเลิกการให้สัญชาติโดยอัตโนมัติแก่เด็กที่เกิดในสหรัฐฯ ได้ เพราะเป็นกฎหมายที่ได้รับการปกป้องภายใต้บทบัญญัติที่ 14 ในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ
และว่าเมื่อคราวที่ ปธน. บารัค โอบาม่า พยายามใช้คำสั่งฝ่ายบริหารในการปรับแกกฎหมายคนเข้าเมือง บรรดาสมาชิกพรรครีพับลิกันก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญต่างให้มุมมองในเรื่องนี้ โดยเห็นว่าขึ้นอยู่กับการตีความบทที่ 14 ในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ที่รับรองไว้เมื่อปี ค.ศ. 1868 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
“ประชาชนทุกคนที่เกิดหรือแปลงสัญชาติในสหรัฐฯ และอยู่ภายใต้ขอบเขตทางกฎหมายของสหรัฐฯ ถือเป็นพลเมืองของสหรัฐฯ และของรัฐที่ประชาชนผู้นั้นอาศัยอยู่”
รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไมค์ เพนซ์ กล่าวว่า “ที่ผ่านมาศาลสูงสหรัฐฯ ไม่เคยมีคำตัดสินว่าภาษาที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น หมายรวมถึงคนที่เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายหรือไม่” ขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมบางส่วนมองว่าบทบัญญัตินี้หมายความถึงบุตรของผู้ที่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมายในสหรัฐฯ เท่านั้น
ส่วนศาสตราจารย์ด้านกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัย Chapman จอห์น อีสท์แมน ชี้ว่า ประเด็นนี้ถือเป็นคำถามปลายเปิดที่ต้องอาศัยการตีความของตุลาการศาลสูง
อย่างไรก็ตาม นักการเมืองของฝั่งเดโมแครตมองว่าเรื่องนี้มีนัยทางการเมืองเพื่อสร้างอิทธิพลต่อการเลือกตั้งกลางเทอมที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า
ส.ส. แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) จากพรรคเดโมแครต มองว่า ปธน.ทรัมป์ กำลังพยายามสร้างคะแนนสนับสนุนจากกลุ่มคนหัวอนุรักษ์นิยม ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง และแสดงให้เห็นว่าพรรครีพับลิกันต้องการเฉไฉประเด็นไปจากปัญหาระบบประกันสุขภาพที่ประชาชนจำนวนมากกำลังประสบอยู่ในขณะนี้
ขณะที่สหภาพเพื่อเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (American Civil Liberties Union – ACLU) และองค์กร Human Rights First มีคำแถลงว่า ความพยายามของผู้นำสหรัฐฯ นั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ และจะยิ่งโหมกระพือไฟแห่งความเกลียดชังที่มีต่อผู้อพยพก่อนหน้าการเลือกตั้งกลางเทอม รวมทั้งยิ่งสร้างความแตกแยกในประเทศนี้
โดยทาง ACLU ระบุว่า “บทบัญญัติที่ 14 ในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ชัดเจนอยู่แล้ว และไม่มีทางถูกลบทิ้งไปเพราะคำสั่งของฝ่ายบริหาร”
การปรับแก้รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ นั้น ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน โดยต้องมีการร่างบทบัญญัติฉบับใหม่มาใช้แทนฉบับเดิม ต้องผ่านคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา จากนั้นต้องได้รับการยืนยันจากรัฐต่างๆ อย่างน้อย 38 รัฐ จึงจะสามารถประกาศใช้ได้อย่างถูกต้อง
(ผู้สื่อข่าว Steve Herman รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)