ในโอกาสส่งท้ายเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศนี้ วีโอเอไทยได้พูดคุยกับ “เลิฟ” เนตรชนก พรมขาว หญิงไทยที่ย้ายมาใช้ชีวิตคู่ที่กรุงเคียฟในยูเครนกับสามีคือ “เจน” ดมีโทร เดนีซอฟ ผู้ระบุว่าตนเองคือ “ทรานเซ็กชวล” (transsexual) หรือหญิงข้ามเพศ ทั้งการปรับตัวเข้าหากันในการใช้ชีวิตคู่ การดำรงชีวิตในช่วงสงคราม การรับมือกับภาวะซึมเศร้าของคุณเจน การพิสูจน์ตัวตนของคุณเจนเพื่อให้อพยพออกมาจากยูเครนเพื่อมายังประเทศที่สามอย่างสวิตเซอร์แลนด์ และอนาคตที่พวกเขาวางแผนต่อจากนี้
เมื่อสามปีที่แล้ว ที่ร้านอาหารในเขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกที่ “เลิฟ” เนตรชนก พรมขาว พบกับ ดมีโทร เดรีซอฟ ชายชาวยูเครน ก่อนที่จะทำความรู้จักกันเป็นเพื่อนและคบกันแบบคู่รักในเวลาต่อมา ผ่านช่วงเวลาต่าง ๆ มาด้วยกัน ทั้งการคบหาทางไกลในช่วงของการระบาดของโรคโควิด-19 ก่อนที่ดมีโทรจะเดินทางจากยูเครนกลับไทยอีกครั้งเพื่อทดลองอยู่ด้วยกันกับเนตรชนก
หลังจากมาอยู่กับเนตรชนกได้สามเดือน ดมีโทรตัดสินใจเปิดเผยตัวตนว่า อัตลักษณ์ที่เเท้จริงของเขาคือหญิงข้ามเพศ (transsexual) ที่ต้องการแต่งตัว มีเสียง มีหน้าอก เช่นผู้หญิงมาตั้งแต่ตนอายุ 12 ปี แต่ก็รู้ตัวดีว่ายังต้องการคบกับผู้หญิง หลังจากที่ลองคบกับบุคคลเพศต่าง ๆ มาแล้ว และดมีโทรต้องการมีชื่อเล่นใหม่ว่า “เจน”
“ฉันเป็นคนยูเครน ยูเครนเคยเป็นส่วนหนึ่งสหภาพโซเวียต เรื่อง (ความหลากหลายทางเพศ) จึงถูกจำกัดอย่างมาก แต่พอฉันเริ่มออกเดินทางไปที่ต่าง ๆ ฉันถึงเพิ่งรู้ว่า การที่ผู้คนอยากเป็นอย่างที่ตัวเองอยากเป็นก็เป็นเรื่องปกตินี่นา ฉันเลยเริ่มเปิดเผยตัวตน ใช้ชีวิตในแบบที่อยากเป็นมากขึ้น” เจนกล่าว
“ฉันเริ่มใช้ฮอร์โมนเพศหญิงเมื่อปีที่แล้ว ตอนที่อยู่ที่หัวหิน เรื่องเดียวเลยที่ฉันเสียใจหลังจากใช้ฮอร์โมนก็คือ ทำไมฉันถึงไม่เริ่มใช้ฮอร์โมนให้เร็วกว่านี้นะ”
ทั้งนี้ ผลสำรวจของกลุ่มสังคมวิทยา “Rating” ที่เผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 47% ในยูเครน มีความเห็นในเชิงลบต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากนี้ กลุ่มอนุรักษ์นิยมในยูเครน ซึ่งเป็นประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์ธอดอกซ์เป็นหลัก ยังมักแสดงความเห็นต่อต้านกลุ่มคนดังกล่าว และกลุ่มขวาจัดมักโจมตีกลุ่มและงานที่จัดโดยผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ตามรายงานของรอยเตอร์
ทั้งเนตรชนก วัย 33 ปี และ “เจน” วัย 37 ปี ต่างมีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตคู่มาแล้ว ทั้งสองเคยผ่านชีวิตแต่งงานกันมาแล้วทั้งคู่ โดยเจนเคยแต่งงานกับหญิงชาวยูเครนเมื่อเก้าปีที่แล้วก่อนจะเลิกลากันไป ส่วนเนตรชนกก็มีลูกสาวอยู่แล้วสองคน
เนตรชนกกล่าวว่า เธอตัดสินใจจะคบกับเจนต่อไป โดยที่เจนแต่งตัวเป็นผู้หญิงและเริ่มรับฮอร์โมนเพศหญิง เพราะเธอมองว่า “เจนเป็นคนที่ดูแลเราได้ดีที่สุด” และ “ไม่มีใครที่ไม่มีปัญหาชีวิตหรือเรื่องความรัก ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ 100% ก็เลยอยากเลือกคนที่เข้าใจเราได้มากที่สุด เลิฟก็เลยคิดว่าเจนเข้าใจเราได้มากที่สุดมากกว่าคนอื่น ต่อให้เลิฟไปหาผู้ชายคนใหม่ เลิฟก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่ ไปเรียนรู้ใหม่”
การปรับตัวกับเพศวิถี – โรคซึมเศร้าของ “เจน” ทั้งก่อนและหลังสงคราม
เนตรชนกตัดสินใจเดินทางไปยูเครนเพื่อไปพูดคุยกับครอบครัวของเจนเกี่ยวกับตัวตนของว่าที่สามีของเธอ ซึ่งเนตรชนกอธิบายว่า ครอบครัวของดมีโทร “ช็อค แต่ก็รับได้” และสนับสนุนทั้งสองจนแต่งงานกันเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
“ตอนที่ฉันไปพบกับพ่อแม่ของฉัน ฉันสวมชุดตัวใหญ่เพื่อปิดบังหน้าอกของฉัน” เจนกล่าวกับวีโอเอไทย “พวกท่านค่อนข้างอายุมากแล้วและมาจากสหภาพโซเวียต ฉันคิดว่าแม่ฉันรู้มาก่อนแล้วนะ แต่พ่อไม่น่าจะรู้มาก่อน ฉันค่อนข้างมีระยะห่างกับพ่อและไม่ได้คุยกับท่านบ่อยเท่าใด… ตอนที่แม่ฉันตามบัญชีติ๊กตอกของฉัน และคำแปลอัตโนมัติในติ๊กตอกแปลคำว่า ‘ตุ๊ด’ เป็น ‘คนรักร่วมเพศ’… ฉันยังต้องอธิบายให้แม่ฟังเลยว่า ไม่ใช่นะ”
หลังจากเนตรชนกตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่ยูเครนได้นานห้าเดือน รัสเซียก็ประกาศปฏิบัติการพิเศษทางทหารต่อยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ทั้งสองเผชิญปัญหาต่าง ๆ ทั้งปัญหาการเงินที่ไม่สามารถถอนเงินสดออกจากธนาคารได้ในช่วงที่เริ่มสงคราม เงินเก็บส่วนตัวของเธอก็หมดไปกับค่าวีซ่า ขณะที่เงินเก็บของเจนก็หมดไปกับการซื้ออพาร์ทเมนท์ช่วงก่อนสงครามจนเกือบหมด
นอกจากนี้ เนตรชนกยังต้องรับมือกับภาวะซึมเศร้าของเจน ซึ่งเป็นโรคที่เธอมีอาการมาตั้งแต่เด็ก และการนำเจนอพยพออกนอกประเทศ ขณะที่ยูเครนมีกฎหมายห้ามพลเมืองชายอายุ 18-60 ปี เดินทางออกนอกยูเครนในช่วงสงคราม
จุดหมายแรกของทั้งสองอยู่ที่เมืองลวีฟ ซึ่งเป็นเมืองปลายทางของการอพยพของชาวยูเครนในช่วงสงคราม เพื่อทำเรื่องขอเดินทางกลับไทยผ่านทางสถานทูตไทยในกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ซึ่งจัดการศูนย์พักพิงของคนไทยที่เมืองลวีฟในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม สถานทูตไทยไม่สามารถนำเจนซึ่งเป็นชาวยูเครนเดินทางไปยังไทยได้ เนตรชนกจึงตัดสินใจอยู่ที่ยูเครนเคียงข้างกับเจนต่อไป
“เราปลอบใจเจนว่า คุณแต่งงานแล้วนะ คุณจะทิ้งกันไม่ได้ ยังไงคุณก็ต้องไปกับฉัน เพราะอย่างน้อยคุณต้องรับผิดชอบชีวิตของภรรยาของคุณ ยังไงก็ไม่ทิ้งกัน ถ้าคุณไม่ไป ฉันก็ไม่ไป” เนตรชนกกล่าว “ถ้าเลิฟกลับไปก่อน ตัวเราจะเป็นกังวลมาก เพราะเจนเป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว ถ้าทิ้งเขาไปแบบนี้ ตัวเรานี่และจะไม่เป็นอันกินอันนอนเพราะเป็นห่วงเขา”
เนตรชนกเล่าต่อถึงการรับมือกับโรคซึมเศร้าของเจน ในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นเดือนแรกของเหตุสงครามในยูเครน ว่าเธอไม่สามารถเข้าถึงได้ทั้งยาและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เจนมักดื่มเพื่อบรรเทาอาการซึมเศร้าของตน
“เจนก็เลยกลายเป็นแบบ ร้องไห้ซึมเศร้าทุกวัน บางทีก็จะมีกรีดแขนตัวเอง แต่ไม่ได้ฆ่าตัวตาย มันก็หนักมากสำหรับเลิฟ เพราะทั้งสงคราม งาน ครอบครัวก็เป็นห่วง ต้องรองรับอารมณ์ของเจนให้ได้ นางก็นอนไม่หลับ มั่วซั่ว ร้องไห้ ดราม่า อีเหละเขละขละไปหมด” เนตรชนกเล่าถึงสถานการณ์ ณ ขณะนั้น ก่อนที่เธอจะหาโรงพยาบาลรักษาอาการให้เจนได้ในเดือนถัดมา โดยหลังจากใช้ความพยายามในการนำเจนเข้ารับการรักษาหลายครั้ง สุดท้ายเนตรชนกก็นำเจนไปปรึกษาที่แผนกจิตเวชของโรงพยาบาลทหารในเมืองดนิโปร
“เราไปขอเขา ให้ทำเอกสารให้เจนไม่เป็นทหารได้ไหม เลิฟจะพาเจนไปรักษาโรคซึมเศร้าที่ไทย…แล้วถึงเจนจะอยู่ในยูเครน เจนก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เป็นทหารไม่ได้ และอาจฆ่าตัวตายก็ได้ แล้วเราก็เอาคลิปที่เจนถูกทำร้ายไปให้ทางหมอ…เขาเลยช่วยทำเอกสารให้ไม่ต้องเป็นทหาร” เนตรชนกอธิบายขั้นตอนการทำเอกสารทางการแพทย์เพื่อนำส่งทางการยูเครน ก่อนที่ทางการจะอนุมัติถอดเจนออกจากการปฏิบัติหน้าที่ทางทหารในเวลาต่อมา
หลังจากใช้เวลาที่เมืองดนิโปรสามสัปดาห์เพื่อเดินเรื่องดังกล่าว เนตรชนกและเจนก็เดินทางกลับมายังเมืองลวีฟ ก่อนจะเดินทางด้วยรถบัสเป็นเวลาสามวันต่อไปยังโปแลนด์ เยอรมนี และจบที่จุดหมายปลายทางในขณะนั้นคือ สวิตเซอร์แลนด์
ชีวิตบทใหม่ที่ยังไม่ใช่บทสรุปในสวิตเซอร์แลนด์ของ “เลิฟเจน”
ทั้งสองตัดสินใจเลือกสวิตเซอร์แลนด์เป็นจุดหมายปลายทาง เนื่องจากได้รับคำแนะนำจากคนรู้จักที่เป็นบุคคลข้ามเพศเช่นกันว่า สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีสวัสดิการและกฎหมายยอมรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น สามารถเข้าถึงแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนเพศได้ ซึ่งเจนมีแผนทำศัลยกรรมใบหน้า เสียง และหน้าอก ให้มีความเป็นหญิงมากขึ้น แต่ไม่ได้ต้องการศัลยกรรมเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศของตนเนื่องจากมีภรรยาแล้ว
นอกจากนี้ กฎหมายของสวิตเซอร์แลนด์ที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ยังอนุญาตให้ผู้ที่อยู่อาศัยในสวิตเซอร์แลนด์สามารถเปลี่ยนเพศทางกฎหมายได้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดแปลงเพศ เข้ารับการบำบัดด้วยฮอร์โมน หรือได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์มาก่อน อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายสวิตเซอร์แลนด์จะรองรับสิทธิ์ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่การเลือกระบุเพศในเอกสารราชการ ยังคงเลือกได้ว่าจะเป็นเพศชายหรือหญิงเท่านั้น
เนตรชนกและเจนอาศัยอยู่ที่นครเจนีวามาได้หนึ่งเดือนแล้ว และกำลังรอใบอนุญาต “Permit S” ซึ่งเป็นใบอนุญาตให้ผู้ถือสามารถอาศัยและทำงานในสวิตเซอร์แลนด์ได้ช่วงเวลาหนึ่งขณะลี้ภัยจากสงครามในประเทศบ้านเกิดของตน โดยใบอนุญาตดังกล่าวมีอายุหนึ่งปี และสามารถต่ออายุออกไปได้
เจนกล่าวว่า เธอชอบสวิตเซอร์แลนด์เพราะนอกจากจะมีกฎหมายรองรับแล้ว เธอยังสามารถเป็นตัวของตัวเองในที่สาธารณะได้อย่างเปิดเผยโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกเลือกปฏิบัติเหมือนครั้งที่เธออยู่ที่กรุงเคียฟ
“รัฐบาลคุ้มครองฉัน แค่นั้นก็พอแล้วค่ะ ฉันไม่กลัวที่จะเดินบนถนน ออกไปพูดคุยกับใครต่อใคร ทักทายทุกคน มันทำให้ฉันรู้สึกได้พลังงานที่ดีมากเลย” เจนกล่าว “ฉันต้องเรียนรู้การเป็นตัวเองใหม่ มันอาจฟังดูแปลก แต่มันเป็นเรื่องจริง เพราะตอนอยู่ที่กรุงเคียฟ เวลาฉันจะไปไหนมาไหนก็มีคนหัวเราะเยาะฉันตลอด”
“ที่สวิตเซอร์แลนด์ไม่ค่อยมีคนยูเครนมากเท่าไหร่ค่ะ ฉันรู้สึกเป็นอิสระ เราถึงตัดสินใจอยู่ที่นี่กัน เราชอบอากาศ ชอบเจอคนที่หลากหลาย และชอบทุกอย่างที่นี่”
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงแผนในระยะยาวของทั้งคู่ เจนเห็นว่า แม้เธอยังไม่เห็นทางออกของสงครามในยูเครนครั้งนี้ แต่หากสงครามสิ้นสุดลง ทั้งคู่ก็ต้องการใช้ชีวิตไป-กลับระหว่างไทยและยูเครน ซึ่งเป็นประเทศที่มีครอบครัวของทั้งสองอยู่ โดยเฉพาะในไทยที่ทั้งสองมีสถานะเป็น “เน็ตไอดอล” ทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างเพจเฟซบุ๊ก ติ๊กตอก และยูทูปที่มีฐานผู้ติดตามอยู่แล้ว และตัวของเนตรชนกเองก็เคยประกอบธุรกิจร้านอาหารไทยมาก่อนและมีเครือข่ายทางธุรกิจอยู่ที่ไทย
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทั้งสองต้องการกลับไปใช้ชีวิตที่ไทย นอกจากเรื่องของครอบครัว ธุรกิจ และเหตุผลที่ชาวต่างชาติมักติดใจในไทยอย่างอาหารและสถานที่ท่องเที่ยว ก็คือ การเปิดรับทางสังคมต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีกฎหมายรองรับกลุ่มบุคคลดังกล่าว เช่น การรับรองเปลี่ยนสถานะทางเพศตามกฎหมาย หรือการรับรองการสมรสในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศให้เท่ากับการสมรสระหว่างหญิงและชาย ก็ตาม
“เวลาฉันอยู่ที่ไทย ฉันแค่มีความสุขเวลาได้เป็นตัวของตัวเอง ได้พูดคุยกับผู้คน แล้วยอมรับว่ามีความสุขจนไม่ได้สนใจ (ประเด็นการเมืองและกฎหมาย) พวกนี้เลยค่ะ” เจนยอมรับ “ที่สวิตเซอร์แลนด์มีกฎหมายคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศก็จริง แต่ฉันก็ไม่ค่อยพบกับคนที่คล้ายฉันที่นี่ ทำให้ยังไม่ค่อยมีสังคม อาจเป็นเพราะฉันอยู่ที่นี่มาไม่นานพอ แต่ไม่รู้สิ ฉันยังอยากกลับไปที่ไทย”
สำหรับแผนของเนตรชนกนั้น เธอต้องการหาช่องทางในการเปิดร้านนวดที่สวิตเซอร์แลนด์เพื่อเพิ่มต้นทุนทางรายได้และประสบการณ์ให้ตน และหากสงครามในยูเครนสิ้นสุดลงแล้ว เธอวางแผนกลับไปบุกตลาดร้านนวดที่ยูเครนและอาจให้ลูกมาช่วยดูแลกิจการเมื่อพวกเธอเติบโตขึ้น
ทั้งสองยอมรับว่า ถึงจะวางแผนการใช้ชีวิตในอนาคตไว้แล้ว แต่ก็ยังมองไม่เห็นหนทางว่า สงครามในยูเครนจะสิ้นสุดลงได้อย่างไรและเมื่อใด ซึ่งทั้งคู่ยังคงต้องใช้ชีวิตในสวิตเซอร์แลนด์และอาจกลับไทยเป็นครั้งคราวไปก่อนจนกว่าจะสามารถตั้งหลักปักฐานได้มากกว่านี้
“เราไม่ค่อยมีความหวังกับ (สถานการณ์ใน) ยูเครนเท่าไหร่” เนตรชนกยอมรับ “เรื่องย้ายกลับยูเครนเลยต้องดูว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร จะไปท่าไหน เพราะตอนนี้ที่ยูเครน ทหารต่างชาติก็เยอะ อาวุธก็เยอะ…คิดว่าคงยังไม่ใช่สิ้นปีนี้แน่นอน”
- รายงานโดย วรรษมน อุจจรินทร์ VOA Thai