ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิ่งข้ามเพศสหรัฐฯ หวังพิสูจน์ทั้งใน-นอกสนาม หลังตีตั๋วโอลิมปิก 2024 


นิกกี ฮิลท์ซ ในการแข่งขันคัดตัวทีมชาติสหรัฐฯ กีฬาวิ่ง 1,500 เมตร ไปแข่งขันที่กีฬาโอลิมปิก กรุงปารีส ภาพถ่ายวันที่ 30 มิถุนายน 2024 (ที่มา: Kirby Lee-USA TODAY Sports)
นิกกี ฮิลท์ซ ในการแข่งขันคัดตัวทีมชาติสหรัฐฯ กีฬาวิ่ง 1,500 เมตร ไปแข่งขันที่กีฬาโอลิมปิก กรุงปารีส ภาพถ่ายวันที่ 30 มิถุนายน 2024 (ที่มา: Kirby Lee-USA TODAY Sports)

นิกกี ฮิลท์ซ นักวิ่งชาวอเมริกัน เพิ่งผ่านการคัดเลือกเพื่อแข่งขันวิ่ง 1,500 เมตร ประเภทหญิง ในกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปารีส แต่สิ่งที่ทำให้เรื่องของนักกีฬาคนหนึ่งน่าสนใจขึ้นมา คือสิ่งที่เขาหวังใจจะพิสูจน์ทั้งในและนอกลู่กรีฑา

สำนักข่าวเอพี พูดคุยกับฮิลท์ซ ที่เป็นนักกีฬาที่ประกาศว่าเป็นคนข้ามเพศ และมีเพศวิถีแบบ ‘นอนไบนารี’ หมายความถึงการไม่มองว่าเพศตนเองจำกัดอยู่แค่เพศชายหรือหญิง ที่เพิ่งเอาชนะคู่แข่งในการคัดเลือกตัวแทนทีมชาติในการวิ่งระยะกลาง ด้วยเวลา 3 นาที 55.33 วินาที

สำหรับฮิลท์ซที่มีเพศกำเนิดเป็นเพศหญิง และลงแข่งขันในประเภทหญิงมาโดยตลอด ผลในครั้งนี้เป็นไปดังที่วางแผนเอาไว้ ต่างไปจากการคัดเลือกเมื่อโอลิมปิก 2021 ที่เข้าเส้นชัยเป็นลำดับสุดท้าย

ฮิลท์ซ ที่บอกเอพีให้ใช้สรรพนามในการแทนตัวว่า “เขา” หรือ they/them ในภาษาอังกฤษ กล่าว่าการแข่งขันที่กรุงปารีส จะเป็นการแข่งขันทั้งเพื่อตัวเองและชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในช่วงเวลาที่ตำแหน่งแห่งที่ของคนข้ามเพศในการแข่งขันกีฬา เป็นพรมแดนที่สังคมยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน

ในการสัมภาษณ์เมื่อปีที่แล้ว เขากล่าวว่า “เราทุ่มเทตัวเอง เวลา และพลังงานเยอะมากไปกับชุมชนเควียร์ และการรณรงค์” และกล่าวด้วยว่า “เรารู้สึกว่าทุกครั้งที่ได้เจอกับคนนอนไบนารีในชุมชนเควียร์ พวกเขาก็เป็นปากเป็นเสียงแทนเราด้วย พวกเขาพูดตลอดว่าตัวเราทำเพื่อพวกเขา แต่เราคิดว่าการเป็นปากเป็นเสียงให้กันนั้นเป็นทั้งการให้และการรับ และแน่นอนว่าเรารู้สึกได้รับการเสริมพลัง”

‘เควียร์’ มีความหมายทั้งในฐานะชื่อของกลุ่มผู้ไม่ระบุหรือจำกัดความอัตลักษณ์ทางเพศของตนตามแบบชาย-หญิง และคำเรียกโดยกว้างของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ทั้งนี้ การลงแข่งของฮิลท์ซในประเภทหญิง ไม่ได้ทำให้มีปัญหาตามมาเหมือนที่นักกีฬาข้ามเพศคนอื่น ๆ เคยเจอในกีฬาอื่น

เมื่อสองปีที่แล้ว ลีอา โธมัส นักว่ายน้ำคนแรกที่เปิดตัวว่าเป็นคนข้ามเพศ และสามารถชนะในการแข่งขันประเภทหญิงในกีฬาวิทยาลัยระดับชาติ ดิวิชัน 1 ของสหรัฐฯ จุดประเด็นด้านกติกาถึงขั้นมีการห้ามไม่ให้หญิงข้ามเพศเข้าแข่งขันกีฬาทางน้ำในประเภทหญิงในเวลาต่อมา

ในส่วนของกีฬากรีฑา องค์กรกรีฑาโลก หรือ World Athletics ที่ดูแลกติกาของกีฬาชนิดนี้ ได้เพิ่มกฏเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นสำหรับนักกีฬาที่มีพัฒนาการทางเพศที่แตกต่าง ยกตัวอย่างเช่น คนที่เคยมีเพศชาย ผ่านการข้ามจากวัยเด็กมาอย่างสมบูรณ์แล้ว แล้วแปลงเพศมาเป็นเพศหญิงแล้วต้องการลงแข่งขันในประเภทหญิง

กติกานี้ทำให้แคสเตอร์ เซเมนยา เจ้าของแชมป์โอลิมปิกสองสมัยในกีฬาวิ่ง 800 เมตร ที่เป็นคนข้ามเพศไม่สามารถลงแข่งขันในประเภทหญิงอีกต่อไปได้ หากไม่ทำตามเงื่อนไขที่ให้เธอปรับฮอร์โมนเป็นเวลาหกเดือนก่อนการแข่งขัน

เซบาสเตียน โค ประธานองค์กรกรีฑาโลก กล่าวว่า หลักการสำคัญของเขา คือการ “ทำสิ่งที่พวกเราคิดว่าเป็นผลประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับกีฬาของเราอยู่เสมอ”

ในประเด็นนี้ สำหรับฮิลท์ซมองว่า เรื่องนี้มีใจความสำคัญอยู่ที่คำ ๆ เดียว คือคำว่า การให้โอกาสอย่างครอบคลุมและทั่วถึง (inclusivity) แต่สิ่งที่ต้องการให้คนพูดถึงมากกว่าเรื่องนี้ คือการคุ้มครองนักกีฬาหญิงข้ามเพศจากผู้ฝึกสอน รวมถึงปัญหาอื่น ๆ อย่างรายได้และเสียงในการแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียม

นักวิ่งรายนี้ได้ตั๋วทีมชาติไปแข่งโอลิมปิก ในการคัดตัวที่สนามของมหาวิทยาลัยโอเรกอน ซึ่งเป็นที่ ๆ ฮิลท์ซเริ่มต้นชีวิตนักกีฬาระดับอุดมศึกษา ซึ่งสำหรับเขาแล้ว ถือเป็นฝันที่เป็นจริง เพราะในอดีตเคยฝันว่าอยากจะมีห้วงเวลาความสำเร็จในที่ตรงนี้

ฮิลท์ซกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า “เรารู้สึกได้รับอภิสิทธิ์” และกล่าวด้วยว่า “เรามีระบบการสนับสนุนที่ยอดเยี่ยม ครอบครัวยอมรับตัวเรามาตลอดตอนที่เราเปิดตัวเกี่ยวกับเพศของเรา และจากนั้นก็คือตอนที่เปิดเผยตัวตนทางเพศของเรา เรารู้ว่ามีเควียร์หลายคนที่ไม่ได้รับความรักและการสนับสนุนเช่นนั้น”

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG