ทุกวัน รานี คาน (Rani Khan) จะสอนหนังสือที่โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามสำหรับนักเรียนข้ามเพศแห่งแรกในปากีสถาน โดยเธอสวมผ้ายาวคลุมผมเอาไว้ และสอนศาสนาจากคัมภีร์อัลกุรอานของชาวมุสลิม
Khan สตรีข้ามเพศวัย 34 ปี ใช้เงินที่เก็บหอมรอมริบมาหลายปีเพื่อก่อตั้งโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม มาดราซา (madrasa ) ซึ่งมีความสำคัญต่อชุมชน LGBTQ ในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ อย่างปากีสถาน
ทั้งนี้ ไม่มีกฎเกณฑ์อย่างเป็นทางการที่ห้ามคนข้ามเพศเข้าโรงเรียนสอนศาสนา หรือมัสยิด แต่ในปากีสถาน คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและการไม่เป็นที่ยอมรับ
Khan บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ครอบครัวส่วนใหญ่ในปากีสถานไม่ยอมรับคนข้ามเพศ พวกเขามักจะถูกไล่ออกจากบ้านจนต้องหันไปทำสิ่งที่ผิด ๆ
ที่โรงเรียนสอนศาสนาดังกล่าว คนข้ามเพศคนอื่น ๆ ก็จะสวมผ้าคลุมหัวเหมือนกับ Khan พวกเขาจะนั่งทางด้านหลังของเธอ ในขณะที่อ่านออกเสียงบางบทบางตอนในหนังสือศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม
Khan พยายามที่จะไม่ร้องไห้ตอนที่เล่าว่า ก่อนหน้านี้เธอเองก็เคยทำเรื่องที่ผิด ๆ ตอนอายุ 13 ปี เธอไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัวของตัวเองทำให้เธอต้องกลายเป็นขอทาน และตอนอายุ 17 ปีเธอได้เข้าร่วมกลุ่มคนข้ามเพศที่ไปเต้นแสดงตามงานแต่งงานและงานอื่น ๆ แต่เธอก็ลาออกจากกลุ่มนั้นเพื่อหันไปเรียนศาสนา จนกระทั่งคืนหนึ่งเธอฝันถึงเพื่อนนักเต้นข้ามเพศที่ล่วงลับไปแล้ว ในฝันเพื่อนคนนั้นขอร้องให้เธอทำเพื่อชุมชน
Khan ถือเอาความฝันนี้เป็นสัญญาณและเริ่มศึกษาคัมภีร์อัลกุรอานที่บ้าน นอกจากนี้เธอยังเข้าเรียนในโรงเรียนสอนศาสนา จากนั้นในเดือนตุลาคม ปีค.ศ. 2020 เธอได้เปิดโรงเรียนมาดราซาที่มีสองห้องเรียน
Khan บอกว่า เธอสอนคัมภีร์อัลกุรอานเพื่อทำให้พระเจ้าพอพระทัยในช่วงเวลาที่เธอมีชีวิตอยู่ และไปจนถึงชีวิตหลังความตายด้วย และว่า มาดราซาแห่งนี้มีที่ให้คนข้ามเพศสวดมนต์ เรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม และชดเชยความผิดพลาดต่าง ๆ ในอดีต นอกจากนี้แล้ว Khan ยังสอนนักเรียนเกี่ยวกับการทำเสื้อผ้าอีกด้วย เธอหวังว่าโรงเรียนจะสามารถหารายได้จากการขายเสื้อผ้าได้
เธอกล่าวอีกว่า โรงเรียนของเธอยังไม่ได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากรัฐบาล แต่เจ้าหน้าที่บางคนได้ให้คำมั่นว่าจะช่วยให้นักเรียนหางานทำได้ อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ได้รับเงินจากรัฐบาล แต่โรงเรียนของ Khan ก็ได้รับเงินบริจาคจากผู้คนทั่วไปบ้าง
ในปี 2018 รัฐสภาของปากีสถานได้รับรองเพศที่สามอย่างเป็นทางการ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้บุคคลข้ามเพศสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และระบุเพศสภาพของตนในเอกสารของทางการได้
แต่ถึงกระนั้น คนข้ามเพศก็ยังถูกมองว่าเป็นคนนอกในประเทศนี้ พวกเขามักไม่มีหนทางทำมาหากินนอกจากจะเป็นขอทาน เต้นกินรำกิน และค้าประเวณี
Hamza Shafqaat หัวหน้าเจ้าหน้าที่รัฐบาลในกรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของปากีสถาน กล่าวว่า มาดราซาอาจสามารถช่วยให้คนข้ามเพศเหล่านี้เข้าใกล้การยอมรับในสังคมปากีสถานมากขึ้น เขาบอกกับรอยเตอร์ว่าเขามีความหวังว่าหากมีโรงเรียนแบบนี้ในเมืองอื่น ๆ สิ่งต่าง ๆ ในปากีสถานก็จะดีขึ้น
การสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2017 ของปากีสถาน พบว่า มีคนข้ามเพศอยู่ราว 10,000 คน แต่กลุ่มสิทธิคนข้ามเพศกล่าวว่า ขณะนี้จำนวนดังกล่าวอาจมากกว่า 300,000 คนในประเทศที่มีประชากร 220 ล้านคนแห่งนี้