ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์ 'ใครได้-ใครเสีย' ท่ามกลางเสียงตอบรับและเสียงวิจารณ์ข้อตกลงการค้า TPP


Trade ministers from a dozen Pacific nations in Trans-Pacific Partnership Ministers meeting post in TPP Ministers "Family Photo" in Atlanta, Georgia, October 1, 2015.
Trade ministers from a dozen Pacific nations in Trans-Pacific Partnership Ministers meeting post in TPP Ministers "Family Photo" in Atlanta, Georgia, October 1, 2015.

รัฐบาลหลายประเทศแสดงความยินดีหลังข้อตกลงการค้า Trans-Pacific Partnership ผ่านความเห็นชอบขั้นสุดท้ายของผู้แทนประเทศสมาชิก 12 ประเทศ

เสียงตอบรับและเสียงวิจารณ์ข้อตกลงการค้า TPP

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ่ อาเบะ กล่าวในการประชุมแถลงข่าว ยกย่องข้อตกลงการค้า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ซึ่งผ่านความเห็นชอบขั้นสุดท้ายของผู้แทนการค้าของประเทศสมาชิก 12 ประเทศเมื่อวานนี้ พร้อมทั้งสนับสนุนให้จีนเข้าร่วมในข้อตกลงฉบับนี้ด้วย

นายกฯ อาเบะกล่าวว่า หากในที่สุดจีนตัดสินใจเข้าร่วม จะถือเป็นกำลังสำคัญในยุทธศาสตร์การสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ก่อนหน้านี้ บรรดานักวิเคราะห์ต่างเชื่อว่าข้อตกลงการค้าเสรี TPP ซึ่งครอบคลุม 40% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสหรัฐฯ ในการคานอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน แต่ขณะนี้มีเสียงสนับสนุนดังขึ้นเรื่อยๆ ให้จีนเข้าร่วมในข้อตกลงฉบับนี้ เพราะจะยิ่งสร้างความเป็นธรรมเท่าเทียมในการค้าระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น

ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯระบุว่า ข้อตกลง TPP จะช่วยกำจัดกำแพงสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ ลงได้มากกว่า 18,000 ชนิด และจะทำให้เกิดข้อบังคับด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อมและการต่อต้านคอรัปชั่น ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงที่ผ่านความเห็นชอบแล้วนี้ ยังต้องผ่านการรับรองจากรัฐสภาของประเทศสมาชิกทั้ง 12 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ เวียดนาม และสหรัฐฯ

อาจารย์โคอิชิ นากาโนะ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Sophia ในกรุงโตเกียว ชี้ว่าขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่า ประเทศใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบจากข้อตกลงนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายและสภาพเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ

อาจารย์นากาโนะยังเชื่อด้วยว่า ข้อตกลงการค้า TPP จะสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกได้ แต่ก็จะสร้างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ให้มากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ยังอาจนำไปสู่ความไม่พอใจและการประท้วงของประชาชนที่รู้สึกว่าตนเสียเปรียบภายใต้ระบบทุนนิยม

TPP Countries and Other Global Trade Agreements
TPP Countries and Other Global Trade Agreements

พิจารณาเป็นรายประเทศ ใครได้เปรียบ-เสียเปรียบ

ในกรณีของญี่ปุ่นคาดว่าข้อตกลงฉบับนี้จะผ่านการรับรองของรัฐสภาได้ไม่ยาก แต่ก็จะถูกต่อต้านอย่างหนักจากภาคการเกษตรที่ต้องแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากต่างชาติ ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์อาจได้ประโยชน์เพราะสามารถใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตในเอเชียสำหรับรถที่ขายในสหรัฐฯ ได้มากขึ้น

ขณะที่ออสเตรเลียเชื่อว่าสามารถส่งออกน้ำตาลไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ส่วนนิวซีแลนด์บอกว่า การที่กำแพงภาษีสินค้าส่งออกประเภทผลิตภัณฑ์นมลดลงถึง 93% ถือว่าเป็นเรื่องดีสำหรับนิวซีแลนด์

ส่วนประเทศที่มีอัตราค่าแรงต่ำ เช่น เวียดนาม เม็กซิโก และชิลี จะได้ประโยชน์จากการที่สามารถส่งออกสินค้าประเภทสิ่งทอ และสินค้าที่ใช้ทักษะฝีมือต่ำ ไปยังตลาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นได้มากขึ้น ภายใต้ข้อแม้ว่าต้องปฏิบัติตามมาตรฐานด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมสากลด้วย

นอกจากนี้ ยังจะช่วยให้เวียดนามลดการพึ่งพาจีนทางเศรษฐกิจ และหันไปเพิ่มปริมาณการค้ากับประเทศสมาชิก TPP แทน

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ชี้ว่าข้อตกลง TPP จะทำให้ราคาสินค้านำเข้าบางประเภทสูงขึ้น เช่น ยารักษาโรค เนื่องจากมีการคุ้มครองบริษัทที่คิดค้นยาใหม่ๆ ให้สามารถผูกขาดตลาดได้ 8 ปี ก่อนที่จะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับยาที่ราคาถูกกว่า

ทางด้านเกาหลีใต้ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมในข้อตกลงนี้ เรียก TPP ว่าเป็นโครงร่างความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก รองนายกฯ เกาหลีใต้ ชอย คยุง-ฮวาน กล่าวว่าเวลานี้รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังพิจารณาว่าอาจจะเข้าร่วมใน TPP ด้วย

นอกจากนี้ยังมีหลายประเทศที่อาจจะเข้าร่วมในอนาคต รวมทั้งฟิลิปปินส์และไทย

สำหรับจีน ดูเหมือนความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเข้าร่วมข้อตกลง TPP แตกต่างกันไป โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ หลายคนมองว่าจีนไม่สามารถเข้าร่วมได้เมื่อพิจารณาจากลักษณะทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม

แต่บางคนเชื่อว่าการเข้าร่วมจะเป็นผลดีต่อจีนเอง เพราะเป็นการกดดันให้จีนต้องทำตามมาตรฐานที่เข้มงวด ทั้งในด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม


(รายงานจากห้องข่าววีโอเอ / เรียบเรียงโดย ทรงพจน์ สุภาผล)

XS
SM
MD
LG