ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของรัสเซีย พลเอกวาเลรี เกราซิมอฟ เดินทางถึงเบลารุสในวันพุธ เพื่อดูแลการซ้อมรบของทหารรัสเซีย 30,000 คนด้วยตัวเอง โดยจะมีการซ้อมรบร่วมกับทหารของเบลารุสซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของรัสเซีย เป็นเวลา 10 วันเริ่มตั้งแต่วันพฤหัสบดี ในบริเวณใกล้กับพรมแดนด้านเหนือของยูเครน
ก่อนหน้านี้ รัสเซียได้เคลื่อนยานพาหนะติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธ เอส-400 สองคัน และเครื่องบินรบอีกหลายลำไปยังเบลารุสเพื่อใช้ในการซ้อมรบครั้งนี้ ซึ่งมีขึ้นห่างจากกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน เพียง 210 กม. นอกจากนี้กองทัพรัสเซียยังส่งเรือรบหลายลำไปประจำการในทะเลดำ พร้อมเคลื่อนกำลังพลมากกว่า 100,000 คน ติดกับพรมแดนด้านตะวันออกของยูเครน
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลกรุงเคียฟได้ประกาศซ้อมรบเป็นเวลา 10 วันเริ่มตั้งแต่วันพฤหัสบดีนี้เช่นกัน โดยระบุว่าจะเป็นการทดสอบเครื่องบินแบบไร้คนขับและจรวดต่อต้านรถถังซึ่งเป็นอาวุธที่ชาติตะวันตกส่งให้ยูเครน
โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ดมิทรี เพสคอฟ กล่าวว่า รัสเซียซ้อมรบร่วมกับเบลารุสในครั้งนี้เพื่อรับมือกับสิ่งที่เรียกว่า "ภัยคุกคามด้านความมั่นคงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน"
ทางด้านผู้เชี่ยวชาญข่าวกรองของชาติตะวันตก ระบุว่า รัสเซียได้เตรียมกำลังทหารราว 70% ของกองกำลังจู่โจมทั้งหมด ไปประจำการเพื่อเตรียมโจมตียูเครนซึ่งเคยเป็นหนึ่งในสหภาพโซเวียตแต่ขณะนี้ต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้
เมื่อวันจันทร์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาคร็อง พบหารือกับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ก่อนที่จะเดินทางไปพบกับประธานาธิบดียูเครน โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ที่กรุงเคียฟในวันอังคาร เพื่อเจรจาทางออกเรื่องวิกฤติการณ์ทางภาคตะวันออกของยุโรป แต่ดูเหมือนจะไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เกิดขึ้น
ในวันพุธ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เก รยาบคอฟ กล่าวว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐฯ และนาโต้จะยินยอมเจรจาอย่างจริงจังเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของรัสเซียหรือไม่
ทั้งสหรัฐฯ ฝรั่งเศส และพันธมิตรองค์การนาโต้ ต่างปฏิเสธข้อเรียกร้องของรัสเซียที่ต้องการให้องค์การนาโต้ปฏิเสธการยอมรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก โดยยืนยันว่า ไม่มีประเทศนอกกลุ่มนาโต้ใดๆ ที่มีอำนาจยังยั้งการตัดสินใจว่า ประเทศใดจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือได้
ขณะเดียวกัน รัฐสภาสโลวะเกียซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกองค์การนาโต้ มีมติรับรองสนธิสัญญาด้านการทหารกับสหรัฐฯ เหมือนกับที่สหรัฐฯ ทำไว้กับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ของนาโต้ คือการอนุญาตให้กองทัพอเมริกันใช้ฐานทัพอากาศสองแห่งในสโลวะเกียเป็นเวลา 10 ปี แลกกับเงินช่วยเหลือด้านการพัฒนามูลค่า 100 ล้านดอลลาร์จากสหรัฐฯ
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ลงนามในสนธิสัญญานี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยระบุว่าสหรัฐฯ จะไม่ส่งทหารประจำการถาวรที่ฐานทัพดังกล่าว
ด้านนายกรัฐมนตรีสโลวะเกีย เอดูอาร์ด เฮเกอร์ กล่าวว่า ข้อตกลงนี้จะช่วยสนับสนุนด้านความมั่นคงให้แก่สโลวะเกีย แต่ฝ่ายตรงข้างทางการเมืองของเขาวิจารณ์ว่า สโลวะเกียกำลังสูญเสียอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนให้กับอเมริกา