ลิ้งค์เชื่อมต่อ

3 นักเศรษฐศาสตร์คว้ารางวัลโนเบล ศึกษาสัมพันธ์การเมือง-ความมั่งคั่งของชาติ


เหรียญทองรางวัลโนเบล (ที่มา:AP)
เหรียญทองรางวัลโนเบล (ที่มา:AP)

รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีนี้เป็นของสามนักเศรษฐศาสตร์ ที่พยายามหาคำตอบว่าเหตุใดประเทศต่าง ๆ ถึงยากดีมีจนไม่เท่ากัน และข้อค้นพบที่ว่าสังคมที่เปิดกว้างและเสรี มีแนวโน้มที่จะพัฒนากว่า

ราชบัณฑิตสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (Royal Swedish Academy of Sciences) กล่าวในการประกาศรางวัลในวันจันทร์ที่กรุงสตอกโฮล์ม ว่างานของดารอน อะเซโมกลู ไซมอน จอห์นสัน และเจมส์ เอ โรบินสัน “ทำให้เห็นความสำคัญของสถาบันทางสังคมที่มีต่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ”

อะเซโมกลูและจอห์นสันทำงานอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ส่วนโรบินสันทำวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก

เจคอบ สเวนสัน ประธานกรรมการรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่างานของพวกเขาให้ “ความเข้าใจที่ลึกขึ้นถึงเหตุผลฐานราก ว่าเหตุใดประเทศถึงล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จ”

อะเซโมกลูกล่าวว่า รู้สึกตกใจที่ได้รับรางวัล และกล่าวว่าวิจัยของพวกเขาเน้นย้ำให้เห็นถึงคุณค่าของสถาบันทางประชาธิปไตย ซึ่งเป็นคุณค่าและกลไกที่ไม่ได้สถาปนาขึ้นมาได้ง่าย ๆ และบางครั้งก็ต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างทาง

โรบินสันให้สัมภาษณ์กับเอพี ตั้งคำถามว่าความสำเร็จของประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างจีนจะยั่งยืนได้ตลอดไปหรือไม่ ดังเช่นสหภาพโซเวียตที่ทำได้ดีในระยะเวลา 50-60 ปี โดยเขามองว่าจีนต้องกดปราบประชาชนต่อไป หากต้องการรักษาความมั่งคั่งเอาไว้

จอห์นสันกล่าวกับเอพีว่าการจัดการเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในสังคม เช่นปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีส่วนกำหนดอนาคต ว่ามนุษย์จะกินดีอยู่ดี มีทักษะในการทำงานและมีรายได้มากขึ้น หรือจะเป็นการแทนที่แรงงานด้วยเครื่องจักรและทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง

งานของทั้งสามศึกษาโครงสร้างสถาบันของรัฐในอาณานิคมของชาติมหาอำนาจในยุโรป เช่นอังกฤษหรือสเปน ที่ทำให้เห็นผลที่แตกต่างกันในแต่ละบริบท และหนึ่งในตัวแปรที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนในท้องที่ หรือผู้ไปตั้งรกรากใหม่ในการต่อรองรายได้กับเจ้าอาณานิคม

ทั้งนี้ รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาที่ไม่ได้รวมอยู่ในรายชื่อรางวัลสาขาต่าง ๆ ที่ อัลเฟรด โนเบล ระบุไว้ในตอนแรก แต่มาเพิ่มในปี ค.ศ.1968 โดยธนาคารกลางสวีเดน เพื่อเป็นเกียรติให้แก่อัลเฟรด โนเบล และผู้ที่ทำงานในด้านเศรษฐศาสตร์

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG