หนึ่งในวาระที่ได้รับความสนใจ ก่อนเวทีดีเบทระหว่างสองผู้ท้าชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ ครั้งแรกในวันพฤหัสบดี คือท่าทีเรื่องสงครามในยูเครน รวมถึงประเด็นจี้ใจดำของแต่ละฝ่าย ที่มีทั้งปมส่วนตัวไปจนถึงปัญหาสังคมในระดับสาธารณะ
เวทีดีเบท หรือการโต้วาทีครั้งแรกระหว่างโจ ไบเดน และโดนัลด์ ทรัมป์ สองแคนดิเดตประธานาธิบดี จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ที่นครแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ซึ่งเป็นการจัดและดำเนินรายการโดยสำนักข่าว CNN
และก่อนที่วันปะทะคารมจะมาถึง มิทช์ แลนดริว ประธานร่วมในโครงการรณรงค์หาเสียงของประธานาธิบดีโจ ไบเดนและรอง ปธน.คามาลา แฮร์ริส ตอบคำถามในรายการ Meet The Press ของสำนักข่าว NBC ที่ถามว่า ไบเดนจะหยิบเรื่องคดีความที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กำลังเผชิญอยู่มาเป็นแกนหลักในการดีเบทหรือไม่ โดยไม่ได้ฟันธงในประเด็นนี้ แต่มีความเห็นเกี่ยวกับคดีความของทรัมป์ว่า
“แต่นั่นไม่ใช่แค่จะเรียกโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าเป็นอาชญากรผู้มีความผิด (แต่) มันยังบ่งชี้ไปถึงพฤติกรรมและลักษณะนิสัยของเขา จำไว้ว่าเขาถูกฟ้องล้มละลายหกครั้ง นั่นหมายความว่าเขาไม่เพียงแต่จะเป็นนักธุรกิจที่แย่ (แต่) หมายความว่าเขาสร้างความเดือดร้อนให้กับคนตัวเล็กตัวน้อยที่ต้องพึ่งพาเขาในการใช้ชีวิต”
ในแง่คดีความ ทรัมป์ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหลายและประกาศว่าจะสู้คดีในชั้นอุทธรณ์
ทรัมป์ใช้เวลาในช่วงก่อนการดีเบท เดินสายพบปะผู้คนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งในกรุงวอชิงตันและเมืองฟิลาเดลเฟียที่อยู่ห่างออกไปราว 225 กม. สวนทางกับไบเดนที่แอบเตรียมตัวเพื่อการดีเบทแบบปิดเงียบ
ระหว่างการปราศรัยที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ทรัมป์แสดงออกถึงความกระตือรือร้นที่จะขึ้นเวทีดีเบท โดยถามผู้ร่วมงานว่า “ผมควรจะขึงขังและรุกหนัก และพูดไปเลยว่า นาย (ไบเดน) เป็นประธานาธิบดีที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไหม หรือผมควรวางตัวนิ่งและสุภาพ และปล่อยให้เขาพูด”
ทรัมป์ยังหยอกล้อกับความเห็นของผู้เข้าร่วมที่บอกว่าให้ผสมท่าทีกันแบบ 50-50 และพูดว่า “เข้มแข็งเอาไว้ (be tough)”
อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ รายนี้ยังใช้เวทีในวันเสาร์ที่ผ่านมาเพื่อย้ำเตือนผู้ฟังถึงนโยบายของเขาเกี่ยวกับผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
ทรัมป์กล่าวว่า “และในวันที่หนึ่ง (ของการเป็นประธานาธิบดี) เราจะเริ่มปฏิบัติการส่งคนกลับประเทศที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน พวกเราไม่มีทางเลือก”
ในช่วงเดือนนี้ ไบเดนประกาศนโยบายคุมเข้มกระบวนการขอลี้ภัยจากการข้ามแดนมาในชายแดนตอนใต้ แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ประกาศว่าจะเปิดช่องทางขอสัญชาติหรือสถานะผู้อยู่อาศัยถาวรแก่คู่สมรสของชาวอเมริกันที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
ในประเด็นการอพยพเข้าเมือง มิทช์ แลนดริว กล่าวโทษทรัมป์ และผู้แทนพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรสที่ไม่รับแผนปฏิรูปกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองของไบเดน ที่เสนอเข้าสภาตั้งแต่วันแรกที่ไบเดนรับตำแหน่ง และกล่าวด้วยว่า “ชายแดนมีปัญหา และมันเป็นเช่นนั้นมาตลอด 20 หรือ 30 ปีแล้วในประเทศนี้”
ท่าทีที่แตกต่างในประเด็นสงครามยูเครน
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับสงครามในยูเครน ที่ผ่านมาทั้งทรัมป์และไบเดนต่างก็เห็นตรงกันว่า สงครามควรจะต้องจบลง แต่ว่าในแง่วิธีการ ทรัมป์ดูจะมีท่าทีต้องการกระชับสัมพันธ์กับรัสเซีย ในขณะที่ไบเดนนั้นมุ่งที่จะโดดเดี่ยวรัฐบาลมอสโกมากกว่า
ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศมองว่า ทรัมป์ยังคงไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรในความขัดแย้งนี้
เซอร์จีย์ คูเดเลีย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเบย์เลอร์ กล่าวว่า ทรัมป์พูดเพียงแค่ว่าควรต้องมีการพูดคุยหรือเจรจา และยินดีที่จะมีบทบาทในการเจรจาระหว่างผู้นำรัสเซียและยูเครน แต่ก็ “ไม่เคยลงรายละเอียดของการออกแบบแนวทางในอนาคตของข้อตกลงสันติภาพนี้”
ในช่วงที่สภาคองเกรสพิจารณาร่างงบประมาณสนับสนุนรัฐบาลกรุงเคียฟ ทรัมป์กล่าวว่า ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ควรเป็นไปในรูปแบบการให้กู้ยืมแทนที่จะเป็นการให้เปล่า และยังกล่าวด้วยว่า ยุโรปควรเป็นผู้เพิ่มความช่วยเหลือให้ยูเครนมากขึ้น
จอห์น เอิบส์ท อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเครน มองว่าท่าทีแบบ ‘สตรองแมน’ หรือผู้มีท่าทีแข็งกร้าวของทรัมป์ จะไม่ยอมให้การบริหารประเทศของตนไปมีส่วนเกี่ยวข้องในความล้มเหลวด้านนโยบายต่างประเทศ ซึ่งในแง่นี้ หมายถึงชัยชนะของรัสเซียในยูเครน
ภายใต้รัฐบาลไบเดน สหรัฐฯ เป็นผู้นำในการช่วยเหลือทางทหารให้กับยูเครนด้วยงบประมาณมากกว่า 175,000 ล้านดอลลาร์ และยังผ่อนคลายเงื่อนไขการใช้อาวุธจากรัฐบาลวอชิงตัน ให้ยูเครนใช้โจมตีเป้าหมายในรัสเซียได้
ไมเคิล คิมเมจ จากมหาวิทยาลัยคาทอลิกแห่งอเมริกา วิเคราะห์ว่า หากไบเดนได้รับเลือกตั้ง ก็คงจะมีนโยบายในลักษณะเดียวกัน และหากประเมินในแง่ที่ว่า ไบเดนจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้อีกต่อไปเป็นสมัยที่สาม ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะเห็นการยกระดับการกดดันรัสเซียมากขึ้น หรือเห็นอิสระในการดำเนินนโยบายมากกว่ารัฐบาลไบเดนสมัยแรก
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น