ลิ้งค์เชื่อมต่อ

กางปัจจัยสหรัฐฯ และชาติตะวันตก กำหนดทิศทางสงครามในยูเครน


ทหารยูเครนขณะยิงปืนใหญ่ใส่ทหารรัสเซีย ที่เมืองบาคห์มุต ในเขตปกครองดอแนตสก์ทางภาคตะวันออกของยูเครน เมื่อ 11 มกราคม 2023 (ที่มา: AP)
ทหารยูเครนขณะยิงปืนใหญ่ใส่ทหารรัสเซีย ที่เมืองบาคห์มุต ในเขตปกครองดอแนตสก์ทางภาคตะวันออกของยูเครน เมื่อ 11 มกราคม 2023 (ที่มา: AP)

รอยเตอร์รวมปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการสนับสนุนจากประเทศตะวันตกและสหรัฐฯ ในห้วงเวลาที่สงครามในยูเครนย่างเข้าสู่ปีที่ 3 ซึ่งอาจเป็นตัวตัดสินว่าแนวหน้าของรัฐบาลเคียฟจะได้รับความช่วยเหลือทางการทหาร อาวุธ และการเมืองมากน้อยเพียงใด

เข้าสู่วาระครบรอบปีที่ 2 ที่รัสเซียตัดสินใจส่งกำลังทหารเข้ารุกรานยูเครน ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ กองทัพยูเครนกำลังตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบ ขาดยุทธภัณฑ์ และถูกบีบให้ต้องถอนกำลังออกจากบางพื้นที่ กล่าวได้ว่าการสนับสนุนจากชาติตะวันตก มีผลอย่างมากต่อความสามารถของรัฐบาลกรุงเคียฟในการต่อต้านการโจมตีของรัสเซีย

รอยเตอร์รวบรวมปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือยูเครนจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ดังนี้

งบประมาณสนับสนุนจากสหรัฐฯ

ร่างกฎหมายที่จะให้งบสนับสนุนแก่ยูเครนจำนวนราว 6 หมื่นล้านดอลลาร์กำลังค้างคาในสภาคองเกรส หลังเผชิญกับแรงต่อต้านจากผู้แทนราษฎรสังกัดพรรครีพับลิกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่ใกล้ชิดกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นอกจากนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไมค์ จอห์นสัน ยังคงเมินเฉยต่อแรงกดดันจากทำเนียบขาวที่ให้สภาเริ่มลงคะแนนเสียง

เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO กล่าวในการประชุมความมั่นคงมิวนิคเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “ทุกสัปดาห์ที่เรารอคอย หมายความว่าจะมีคนถูกสังหารมากขึ้นที่แนวหน้าในยูเครน”

เจ้าหน้าที่จากชาติตะวันตกและยูเครนกล่าวว่า ร่างงบประมาณข้างต้นมีความสำคัญอย่างมากต่อกองทัพยูเครน โดยเจ้าหน้าที่จากยุโรประบุว่า มีสัญญาณที่ดีจากสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ในการประชุมที่มิวนิค แต่ก็คาดว่าคงต้องใช้เวลา กว่าที่กฎหมายจะได้รับการรับรอง

ความพร้อมทางอาวุธ-ยุทธภัณฑ์

การสู้รบส่วนใหญ่ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ดำเนินอยู่ คือการแลกหมัดกันด้วยกระสุนปืนใหญ่นับพันลูกต่อวัน นักวิเคราะห์ระบุว่า ยูเครนสามารถยิงได้มากกว่าจนถึงปี 2023 ก่อนที่รัสเซียจะพลิกเกมด้วยการเพิ่มกำลังการผลิต และนำเข้ากระสุนปืนใหญ่จากอิหร่านและเกาหลีเหนือ

ไมเคิล คอฟแมน นักวิจัยจากสถาบันคลังความคิด Carnegie Endowment for International Peace กรุงวอชิงตัน คาดว่ารัสเซียยิงปืนใหญ่ได้มากกว่ายูเครนถึง 5 เท่า

ศ.จัสติน บรองค์ จากสถาบันคลังความคิดด้านความมั่นคง RUSI จากอังกฤษ กล่าวว่าปัจจัยที่สำคัญยิ่งของยูเครน อยู่ที่ว่าพันธมิตรจากตะวันตกจะจัดส่งกระสุนให้ยูเครนได้มากกว่าที่รัสเซียมีอยู่หรือไม่

ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับนำของยูเครนพยายามเรียกร้องให้ชาติตะวันตกจัดส่งระบบอาวุธอื่น ๆ เพื่อที่จะสามารถโจมตีลึกเข้าไปในรัสเซียได้ เช่นระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธีของกองทัพบก (ATACMS) ของสหรัฐฯ หรือขีปนาวุธ Taurus ของเยอรมนี แต่ยังไม่ได้รับการตอบตกลงใด ๆ

โดยทางเยอรมนีกังวลว่า การให้ขีปนาวุธดังกล่าวอาจยกระดับของสงคราม และทำให้บทบาทของรัฐบาลเบอร์ลินในความขัดแย้งครั้งนี้มีมากขึ้น

สงครามในตะวันออกกลาง

การสู้รบในฉนวนกาซ่าที่ตามมาหลังกลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลเมื่อ 7 ตุลาคมปีที่แล้ว ทำให้ชาติตะวันตกมีเวลาและเจตจำนงทางการเมืองที่จะใช้ไปกับยูเครนน้อยลง และอาจจะยิ่งน้อยลงหากความขัดแย้งขยายปมเป็นสงครามระดับภูมิภาค

ไม่เพียงเท่านั้น การวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่ม Global South หรือประเทศจากภูมิภาคละตินอเมริกา แอฟริกา เอเชียและโอเชียเนีย ที่มองว่าชาติตะวันตกมีท่าทีต่อสงครามที่กาซ่าและยูเครนแบบสองมาตรฐาน ยิ่งทำให้รัฐบาลกรุงเคียฟออกมาเรียกร้องประเทศต่าง ๆ มาสนับสนุนแผนสันติภาพของยูเครนยากยิ่งขึ้น

เวทีประชุมสุดยอดผู้นำ NATO ที่กรุงวอชิงตัน

การประชุมสุดยอดผู้นำ NATO ในวันที่ 9-11 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ไม่เพียงจะมีผลกระทบต่อการสู้รบ แต่ยังมีผลต่อบรรยากาศทางการเมืองและขวัญกำลังใจในยูเครน สืบเนื่องจากความพยายามที่จะให้ยูเครนเข้าเป็นชาติสมาชิกของพันธมิตรทางทหารนี้ยังคงดำเนินต่อไป

การเป็นสมาชิก NATO หมายถึงการอยู่ภายใต้หลักการที่ว่าทุกชาติสมาชิกจะเข้าช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ถูกรุกราน ทั้งนี้ นักการทูตหลายคนระบุว่า มหาอำนาจใน NATO อย่างสหรัฐฯ และเยอรมนียังคงคัดค้านการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก เนื่องจากกังวลว่าจะทำให้กลุ่มก้อนพันธมิตรนี้ขัดแย้งกับรัสเซียโดยตรงมากขึ้น

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

โดนัลด์ ทรัมป์ เต็งหนึ่งจากพรรครีพับลิกัน ที่จะมาท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้ มีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์ NATO อย่างดุดันในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของสหรัฐฯ ถึงขั้นที่เขาขู่ว่าจะนำสหรัฐฯ ออกจากการเป็นสมาชิก และยังหั่นงบที่สนับสนุน NATO ลงอีกด้วย

ด้าน ปธน.โจ ไบเดน ที่ปัจจุบันอายุ 81 ปี ตัดสินใจที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง เพราะเชื่อว่าจะสามารถเอาชนะทรัมป์ได้ แต่ผลสำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกัน พบว่าความนิยมของเขาแทบจะมีเท่ากับทรัมป์ และชาวอเมริกันก็มีข้อสงสัยในเรื่องอายุของตัวไบเดน แผนการทางเศรษฐกิจ และนโยบายเกี่ยวกับชายแดนรวมถึงภูมิภาคตะวันออกกลาง

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG