การโจมตีอิสราเอลของอิหร่านเมื่อช่วงเช้าวันอาทิตย์ ถือเป็นจุดเปลี่ยนวิถีสงครามของรัฐบาลเตหะราน ที่เลือกเดินเกมสงครามตัวแทนในตะวันออกกลาง นับตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสปะทุขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ณ ตอนนี้ทุกสายตาจับต้องไปที่ท่าทีของอิสราเอลว่าจะเลือกใช้ยุทธวิธีใดในการตอบโต้อิหร่าน ที่เปิดฉากโจมตีอิสราเอลอย่างไม่ทันตั้งตัวเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างที่รัฐบาลกรุงวอชิงตันยังคงใช้มาตรการทางการทูตเพื่อคลี่คลายความตึงเครียดในภูมิภาคนี้ต่อไป
ทางอิหร่าน ระบุว่าการโจมตีที่เกิดขึ้นถือเป็นการตอบโต้การโจมตีทางอากาศของอิสราเอล ที่เข้าทำลายสิ่งที่อิหร่านระบุว่าเป็นสถานกงสุลในซีเรีย ซึ่งคร่าชีวิต 2 นายพลของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guard Corps - IRGC) ของอิหร่าน เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ด้านอิสราเอล เผยว่ามีโดรนมากกว่า 300 ลำและขีปนาวุธจากอิหร่านรุกล้ำเข้ามาในดินแดนของอิสราเอลในช่วงข้ามคืน แต่ถูกอิสราเอลสกัดเอาไว้ได้ด้วยระบบต่อต้านขีปนาวุธของประเทศ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และอังกฤษ โดยมีรายงานผู้บาดเจ็บ 1 ราย เป็นเด็กหญิงที่อยู่ทางตอนใต้ของอิสราเอล ในช่วงที่ขีปนาวุธอิหร่านโจมตีฐานทัพอากาศอิสราเอล ซึ่งสร้างความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
แต่ถึงกระนั้น ทางกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่านก็ยังบอกว่าปฏิบัติการดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จ
โยนา ยาคูเบียน รองประธานศูนย์ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ จากสถาบันแห่งสันติภาพสหรัฐฯ หรือ USIP (United States Institute of Peace) ในกรุงวอชิงตัน ให้ทัศนะกับเอพีว่า อิหร่านสามารถสร้างสมดุลระหว่างการตอบโต้การโจมตีในกรุงดามัสกัสและหลีกเลี่ยงการโต้กลับทางทหารที่รุนแรงขึ้นจากอิสราเอล ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ขยายวงกว้างในตะวันออกกลางได้ “ทั้งสองชาติ(อิหร่านและอิสราเอล)ยังสามารถประกาศชัยชนะและก้าวลงจากหน้าผาแห่งความขัดแย้งนี้ได้ โดยเฉพาะในจังหวะที่ยังไม่มีพลเรือนอิสราเอลเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้”
อย่างไรก็ตาม โลกกำลังเฝ้ารอสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรียามสงครามของอิสราเอลในวันอาทิตย์ ซึ่งกลุ่มที่มีแนวทางแข็งกร้าวในอิสราเอลได้กดดันให้มีการตอบโต้ออกมา ขณะที่ฝ่ายอื่นแนะว่าให้มีความยับยั้งชั่งใจ และมุ่งเน้นเรื่องการเสริมสร้างสัมพันธ์กับพันธมิตรชาติอาหรับเป็นสำคัญ
เบนนี แกนต์ซ สมาชิกคณะรัฐมนตรียามสงครามของอิสราเอล กล่าวว่า “เราจะสร้างแนวร่วมระดับภูมิภาคและตอบโต้อิหร่านในหนทางและช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับเรา”
นักวิเคราะห์ต่างมองว่าอิหร่านส่งสัญญาณว่าจะพร้อมยกระดับและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเผชิญหน้ากับอิสราเอลได้ทุกเมื่อ จากเดิมที่เดินเกมสงครามเงากับอิสราเอลมาโดยตลอด
แมกนัส แรนสตอร์ป ที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ แห่ง Swedish Defense University ให้มุมมองเรื่องนี้กับเอพีว่า “นี่คือคำเตือน(ของอิหร่าน) ว่าหากอิสราเอลแหกกฎใด ๆ จะมีผลกระทบที่ตามมาแน่นอน”
การโจมตีของอิหร่านในช่วงสุดสัปดาห์ได้สร้างความกลัวว่าสงครามในกาซ่าจะขยายวงกว้างเป็นความขัดแย้งทั่วตะวันออกกลาง แต่อิหร่านยังคงยืนยันว่าไม่ได้แสวงหาสงครามที่จะเกิดขึ้นไปทั่วทั้งภูมิภาคแต่อย่างใด
โดยรัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ฮอสเซน อามีร์-อับโดลลาเฮียน โพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ X ว่าอิหร่าน “ไม่มีความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าปฏิบัติการทางทหารต่อไป” ในช่วงเวลานี้ เว้นแต่ว่าจะเป็นฝ่ายถูกโจมตี และเน้นย้ำว่าอิหร่านมุ่งโจมตีเพียงพิกัดของอิสราเอลที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีในกรุงดามัสกัส ไม่ใช่กับเขตที่มีพลเรือนหรือพื้นที่ทางเศรษฐกิจ
หลังจากอิสราเอลเริ่มต้นปฏิบัติการทางทหารกับกลุ่มฮามาส กลุ่มติดอาวุธที่มีอิหร่านหนุนหลัง เข้ามามีบทบาทด้านการทหารมากขึ้น ในระหว่างที่รัฐบาลกรุงเตหะรานนั่งอยู่ข้างสนามความขัดแย้ง โดยกลุ่มติดอาวุธเฮซบอลลาห์ยิงจรวดเข้าไปทางตอนเหนืออิสราเอล กลุ่มกบฏฮูตีเข้าโจมตีเรือทางตะวันตกของทะเลแดง และเครือข่ายกลุ่มติดอาวุธอิรักที่มีอิหร่านหนุนหลังก็เข้าโจมตีฐานที่มั่นของสหรัฐฯ ในอิรักและซีเรียในเวลาเดียวกันนี้
มาฮา ยาห์ยา ผู้อำนวยการ Carnegie Middle East Center บอกกับเอพีว่า ตอนนี้รัฐบาลเตหะรานแสดงจุดยืนว่า “พร้อมจะเพิ่มเดิมพัน” โดยไม่หันไปพึ่งพาสงครามตัวแทนอีกต่อไป แต่ ณ เวลานี้ถือว่าอิหร่านทำเกินกว่าเหตุ โดยเธอเสริมว่า “พวกเขา(อิหร่าน)ให้คำเตือนมากพอว่าสิ่งนี้(การโจมตี)จะเกิดขึ้น และฉันคิดว่าพวกเขารู้ว่า(โดรนและขีปนาวุธ)จะถูกสกัดไว้ได้ก่อนจะถึงดินแดนของอิสราเอล”
ยาห์ยา ยังระบุว่า แรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นต่ออิสราเอลในสงครามกาซ่าได้เปลี่ยนมาเป็นการลดความตึงเครียดระดับภูมิภาคตะวันออกกลางแทน
เอลดัด ชาวิท หัวหน้าโครงการวิจัยอิสราเอล-สหรัฐฯ จากสถาบันคลังสมอง Institute for National Security Studies อิสราเอลเดินเกมด้านการทหารเพิ่มขึ้นในกาซ่า แต่กลับไม่ได้รับความสนับสนุนในหมู่พันธมิตรมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐฯ
จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงทำเนียบขาว กล่าวกับสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ไม่ได้ต้องการให้เกิดความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง หรือ “สงครามที่ขยายวงกว้าง” กับอิหร่าน และ “กำลังเดินหน้าด้านการทูตในเรื่องนี้”
อีกด้านหนึ่ง มีการประชุมวาระฉุกเฉินของกลุ่มจี7 ซึ่งมีสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศสเป็นสมาชิก รวมทั้งการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในวาระเดียวกันนี้ ซึ่งทั้งสองเวทีการประชุมฉุกเฉินล้วนเกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์เช่นกัน
โดยที่ประชุมกลุ่มจี7 ออกแถลงการณ์ร่วม ประณามการโจมตีของอิหร่าน โดยระบุว่า “เราพร้อมที่จะมีมาตรการที่ยกระดับขึ้นเพื่อตอบโต้ความริเริ่มในการบั่นทอนเสถียรภาพที่เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาค”
- ที่มา: เอพี
กระดานความเห็น