ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไขความลับ... กลไกร่างกายกับ “ความกลัว”


ไขข้อข้องใจว่าทำไมคนเรามี "ความกลัว" ไม่เหมือนกัน? และทำไมคนเราถึงมองว่าการเผชิญสิ่งที่น่ากลัว ตื่นเต้น หวาดเสียว เป็นเรื่องสนุกได้อย่างน่าประหลาด

please wait

No media source currently available

0:00 0:03:01 0:00

จากปรากฏการณ์ของภาพยนตร์สยองขวัญในตำนานอย่าง IT กวาดรายได้ 123 ล้านดอลลาร์ตั้งแต่เข้าฉายสัปดาห์แรก และยังมีภาพยนตร์แฟรนไชส์แนวสยองขวัญสั่นประสาทอีกหลายเรื่อง ทั้ง Annabelle Jigsaw และล่าสุด Leatherface ที่รอกวาดรายได้มหาศาลจากกระเป๋าของผู้ที่ชื่นชอบภาพยนตร์แนวนี้

Michael Blyth จากสถาบันภาพยนตร์อังกฤษ บอกว่า ภาพยนตร์เหล่านี้ถือเป็นภาพยนตร์สยองขวัญที่ติดตราตรึงใจผู้ชมมายาวนาน เพราะเป็นสิ่งที่หลายคนเคยได้ชมเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก และยังคงหลอกหลอนพวกเขามาจนถึงทุกวันนี้

ความน่ากลัวเหล่านี้สามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ โดยทีมวิจัยจาก University of Cambridge สแกนสมองของผู้ทดสอบที่ชมภาพยนตร์สยองขวัญ พบว่า สมองส่วน Amygdala จะตื่นตัวทันทีเมื่อเผชิญกับความกลัว

Annemieke Apergis-Schoute หนึ่งในทีมวิจัย บอกว่า เมื่อสมองส่วน Amygdala ที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้อารมณ์ จะรีบส่งสัญญาณผ่าน HPA หรือสมองส่วน Hypothalamus ต่อม Pituitary และต่อม Adrenal ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความเครียด ความตื่นตัว และความกลัว

ในเวลานั้น ฮอร์โมนต่างๆ เช่น อาดรีนาลีน รวมทั้งโดพามีน พุ่งพล่านทั่วร่างกาย ส่งผลให้รูม่านตาจะเริ่มขยาย เหงื่อเริ่มออก หัวใจเต้นเร็ว ซึ่งเป็นระยะที่เรียกว่า ตอบสนองโดยสู้หรือหนี

การทดสอบนี้ นักวิจัยยังได้สังเกตการตอบสนองทางร่างกายเมื่อเผชิญกับสิ่งที่น่าตกใจด้วย และพบว่ามันไม่ใช่ความรู้สึกที่ดีนัก

แต่ว่าทำไมคนเรายังเลือกกระโดดจากที่สูง หรือ บันจี้จัมพ์ ไปเที่ยวบ้านผีสิง หรือชมภาพยนตร์สยองขวัญกันอยู่ ทั้งที่รู้ว่าจะต้องเจอกับเรื่องน่ากลัวก็ตาม

การทดสอบนี้ได้ไขคำตอบว่า การที่ยังมีคนกล้าทำสิ่งที่ตื่นเต้น หวาดเสียว หรือน่ากลัวอยู่ นั่นก็เพราะว่าจิตใต้สำนึกของพวกเขารู้ว่าพวกเขาปลอดภัย ไม่ได้เป็นอันตราย และไม่มีทางต้องตายแน่นอน

คนกลุ่มนี้จะใช้ประโยชน์จากสารเคมีในสมองและฮอร์โมนที่พุ่งพล่านถาโถมท่ามกลางความกลัว ณ เวลานั้น เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดี หรือที่เรียกว่า High ในอีกรูปแบบหนึ่ง

ทีมวิจัยของ University of Cambridge ทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าคุณเป็นคนประเภทที่ชอบประสบการณ์หวาดเสียวหรือน่ากลัว และรู้สึกสนุกสนานเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์เหล่านี้ ก็ถือว่าเป็นของขวัญล้ำค่าที่ร่างกายมอบความสุขรูปแบบนี้ให้คุณ ผ่านทางการหลั่งฮอร์โมนและสารสื่อประสาท

เพราะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถควบคุมสมองเมื่อเผชิญกับความกลัวชั่วขณะแบบนี้ได้

XS
SM
MD
LG