ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์เมื่อวันศุกร์ ยืนยันผลการทดสอบในขั้นต้นที่พบว่า วัคซีนโควิด-19 “Sputnik V” ของรัสเซีย กระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันโรคและให้ผลข้างเคียงน้อย ลบคำสบประมาทจากนานาประเทศเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดที่ได้รับการอนุมัติเป็นชนิดแรกของโลก ตามรายงานของรอยเตอร์
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The Lancet เมื่อวันศุกร์ ระบุว่า ผลการทดสอบขั้นต้นกับมนุษย์ 2 ครั้ง ในระยะ 42 วัน เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมที่ผ่านมา และมีผู้เข้าร่วมทดสอบวัคซีนในโครงการ “Sputnik V” ของรัสเซีย 76 คน พบว่า 100% ของผู้ทดสอบวัคซีน มีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 อีกทั้งยังไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้วัคซีนชนิดนี้
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยมองว่ายังต้องเดินหน้าทดสอบกับมนุษย์ในวงกว้างและในระยะยาว เพื่อดูเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนต้านโควิด-19 ในระยะยาวด้วย
เมื่อต้นเดือนสิงหาคม รัสเซียเป็นประเทศแรกในโลก ที่อนุมัติวัคซีนโควิด-19 อย่างเป็นทางการ วัคซีนโควิดชนิดนี้ พัฒนาโดยสถาบันกามาเลยา (Gamaleya Institute) ที่กรุงมอสโก เป็นรูปแบบการฉีดวัคซีน 2 ขนานในการต้านโควิด-19 ได้แก่ ไวรัสอาดิโน Ad5 รวมกับไวรัสอาดิโนอีกตัว Ad26 ที่ไม่ค่อยพบในมนุษย์ ซึ่งทางสถาบันกามาเลยา คาดว่า การใช้วัคซีนที่มีไวรัสอาดิโนทั้ง 2 ชนิด จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในมนุษย์ขึ้นมาได้
ในตอนนั้นได้สร้างความกังขาให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ในประเทศต่างๆ รวมถึงในรัสเซียเอง ต่อการจดทะเบียนวัคซีนก่อนการทดลองเฟส 3 สิ้นสุดลง รวมทั้งประเด็นการใช้วัคซีนที่ผลิตจากไวรัสที่มนุษย์จำนวนมากมีภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติ ซึ่งอาจกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนได้ จากที่ปัจจุบัน ผู้คนในจีนและสหรัฐฯ ราว 40% มีระดับภูมิคุ้มกันต่อไวรัสอาดิโน Ad5 และผู้คนในแอฟริกามีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสประเภทนี้มากถึง 80%
รัสเซียเพิ่งเริ่มต้นการทดสอบกับประชากร 40,000 คนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คาดว่าจะมีผลการทดสอบออกมาในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายนนี้ และตั้งเป้าผลิตวัคซีนโควิดให้ได้ราว 1.5-2 ล้านโดสต่อเดือนภายในสิ้นปีนี้ และจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 6 ล้านโดสต่อเดือนได้