ลิ้งค์เชื่อมต่อ

บริษัทยาสูบต่างชาติใช้วิธีทางกฎหมายสกัดกั้นแผนของกระทรวงสาธารณสุขไทยที่ต้องการเพิ่มขนาดภาพโฆษณาเตือนบนซองบุหรี่


อัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จนกลายเป็นสาเหตุอันดับต้นๆของการเสียชีวิตในหมู่ชายไทย ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงพยายามใช้มาตรการลดปริมาณการสูบบุหรี่ในหมู่คนไทย ด้วยการเพิ่มขนาดภาพโฆษณาที่เตือนให้ระวังภัยจากการสูบบุหรี่ จากที่ครอบคลุม 55% ของพื้นที่บนซองบุหรี่ ขยายเป็น 85% โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก

ตามกำหนดเดิมนั้น มาตรการนี้ต้องเริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค แต่กลับถูกสกัดกั้นจากบริษัทยาสูบต่างชาติขนาดใหญ่หลายบริษัท นำโดยบริษัท Phillip Morris ผู้ผลิตบุหรี่ยี่ห้อ Marlboro ซึ่งกล่าวหาว่ากระทรวงสาธารณสุขไทยทำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และกระทำการโดยมิได้ปรึกษาผู้ผลิตและผู้ขายรายย่อยเสียก่อน นอกจากนี้ยังกล่าวหาว่าภาพบนซองบุหรี่ซึ่งใหญ่โตเกินไปจะบดบังตราสินค้า ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถแยกแยะสินค้าได้ว่าเป็นยี่ห้อไหนหรือของบริษัทใด ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในทางการค้า และว่ามาตรการขยายภาพบนซองบุหรี่นั้นไม่จำเป็น เพราะผู้บริโภคทราบดีอยู่แล้วว่าอันตรายของบุหรี่นั้นคืออะไร

ผช.ศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท แห่งคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่าการที่บริษัทต่างชาติพยายามตอบโต้กระทรวงสาธารณสุขด้วยวิธีนี้ เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย โดยชี้ว่าที่ผ่านมาเมื่อกระทรวงสาธารณสุขประกาศมาตรการใดก็ตาม บริษัทยาสูบต่างชาติมักปฏิบัติตามโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ในครั้งนี้บริษัทยาสูบรายใหญ่ 3 บริษัทรับหน้าที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการฟ้องร้องกระทรวงสาธารณสุขกลับ นับเป็นคดีประวัติศาสตร์ในวงการยาสูบของไทย

ที่ผ่านมา WHO หรือองค์การอนามัยโลกเชื่อว่า ภาพผู้ป่วยจากโรคที่เกี่ยวกับบุหรี่พร้อมคำเตือนขนาดใหญ่บนซองบุหรี่นั้นคือวิธีที่ได้ผลที่สุดวิธีหนึ่งในการลดอัตราการสูบบุหรี่ และไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของ WHO ในเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด ทำให้ WHO ออกมาสนับสนุนไทยอย่างเปิดเผยในการต่อสู้กับบริษัทยาสูบรายใหญ่เหล่านั้น

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ชี้ว่าประเทศไทยพยายามทำตามนโยบายที่หลายประเทศได้เริ่มไปแล้ว เช่น ออสเตรเลีย อุรุกวัย และศรีลังกา ศ.นพ.ประกิต ระบุว่ามาตรการดังกล่าวเมื่อนำมาใช้ประกอบกับมาตรการอื่นๆ เช่น การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ หรือการขึ้นราคาบุหรี่ พิสูจน์แล้วว่ามีผลลดอัตราการสูบบุหรี่ได้จริง

ทางด้านคุณ Jonathan Liberman ทนายความชาวออสเตรเลียและสมาชิกองค์กรที่ปรึกษาด้านนโยบายป้องกันการสูบบุหรี่ ชี้ว่าคดีนี้เป็นการพิสูจน์ความสามารถของรัฐบาลไทยในการรับมือกับบริษัทยาสูบรายใหญ่ที่มีอิทธิพลไปทั่วโลก พร้อมระบุว่าเวลานี้บรรดาบริษัทยาสูบต่างพยายามใช้วิธีข่มขู่คุกคามและฟ้องร้องรัฐบาลประเทศต่างๆมากกว่าจะยินยอมให้มีการใช้มาตรการรณณงค์ลดการสูบบุหรี่ ดังนั้นจึงอยู่ที่รัฐบาลว่าจะยอมถูกข่มขู่หรือจะลุกขึ้นสู้เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชน

เวลานี้ทั้งบริษัทยาสูบต่างชาติและรัฐบาลไทยต่างยื่นเอกสารให้ศาลพิจารณาแล้ว และคาดว่าจะมีคำตัดสินออกมาในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

รายงานจาก Ron Corben / เรียบเรียงโดย ทรงพจน์ สุภาผล
XS
SM
MD
LG