ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สาววัยรุ่นซาอุฯ หนีครอบครัวเพื่อลี้ภัย อยู่ภายใต้การดูแลของยูเอ็นแล้ว


In this photo released by the Immigration Police, Chief of Immigration Police Maj. Gen. Surachate Hakparn, right, walks with Saudi woman Rahaf Mohammed Alqunun before leaving the Suvarnabhumi Airport in Bangkok, Thailand, Jan. 7, 2019.
In this photo released by the Immigration Police, Chief of Immigration Police Maj. Gen. Surachate Hakparn, right, walks with Saudi woman Rahaf Mohammed Alqunun before leaving the Suvarnabhumi Airport in Bangkok, Thailand, Jan. 7, 2019.

เจ้าหน้าที่ไทย ระบุว่า สาววัยรุ่นชาวซาอุดิอารเบีย ผู้หนีครอบครัวมาซ่อนตัวอยู่ที่ประเทศไทยขณะกำลังรอต่อเครื่องบินไปออสเตรเลีย เวลานี้อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ หรือ UNHCR และได้เดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว

นางสาวราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัลกุนัน (Rahaf Mohammed Alqunun) ชาวซาอุฯ วัย 18 ปี เดินทางหลบหนีจากครอบครัวของเธอระหว่างการพักผ่อนที่คูเวต และเดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อคืนวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่น

เธอขังตัวเองอยู่ในห้องพักที่โรงแรม และได้ทวีตข้อความหลายครั้งในวันจันทร์ว่า เธอต้องการพบผู้แทนจากสหประชาชาติ เพื่อปรึกษาเรื่องการลี้ภัยไปยังออสเตรเลีย

ในวิดีโอที่โพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ อัลกุนันกล่าวขณะอยู่ในห้องพักโรงแรมว่า เธอจะไม่ยอมถูกบังคับให้ต้องกลับซาอุฯ เด็ดขาด เธอแค่ต้องการมีชีวิตรอด และยังบอกด้วยว่าครอบครัวของเธอขังเธอไว้ในห้องถึง 6 เดือน เพียงเพื่อให้เธอตัดผม และเธอเชื่อว่าพวกเขาจะสังหารเธออย่างแน่นอนทันทีที่เธอออกจากการควบคุมตัวของทางการซาอุฯ

หลังจากที่ทราบว่าเธอจะไม่ถูกสังตัวกลับซาอุฯ อัลกุนันทวีตว่า เธอรู้สึกปลอดภัยภายใต้การดูแลของ UNHCR และรัฐบาลไทย

ด้าน UNHCR ระบุว่า ต้องใช้เวลาอีกราว 5 - 7 วัน สำหรับการตรวจสอบกรณีของนางสาวอัลกุนัน

ก่อนหน้านี้ ทางการไทยไม่อนุญาตให้สตรีซาอุฯ ผู้นี้เดินทางเข้าประเทศ เนื่องจากเธอไม่มีเอกสารการเดินทางหรือเงินติดตัว แต่เธอบอกว่าถูกเจ้าหน้าที่ซาอุฯ และคูเวต ยึดหนังสือเดินทางไป ซึ่งทางองค์กร Human Rights Watch ยืนยันต่อมาว่าเป็นเรื่องจริง พร้อมขอให้ทางการไทยรับเธอให้อาศัยในประเทศไทยได้ขณะรอทำเรื่องขอลี้ภัยกับทางออสเตรเลีย

Human Rights Watch ระบุว่า สตรีชาวซาอุฯ ที่หลบหนีจากครอบครัวของพวกเธอ เมื่อกลับไปอาจถูกลงโทษสถานหนักจากสมาชิกในครอบครัวเอง ถูกจำกัดอิสรภาพ หรือถูกกระทำรุนแรงในรูปแบบต่างๆ

นอกจากนี้ สตรีที่กระทำผิดทางศีลธรรม อาจถูกลงโทษขั้นสูงสุด คือประหารชีวิต

เมื่อปีที่แล้ว มีเหตุการณ์คล้ายกันที่ฟิลิปปินส์ เมื่อสตรีซาอุฯ ชื่อ ดิน่า ลาสลูม เดินทางขึ้นเครื่องบินหนีออกจากซาอุฯ ไปหยุดพักที่ฟิลิิปปินส์ ก่อนที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสนามบินจะรายงานว่า เห็นเธอถูกมัดมือมัดเท้าและใช้เทปกาวปิดปากขณะถูกลากออกจากสนามบิน

องค์กรสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ตั้งแต่นั้นไม่มีใครได้ยินข่าวของ ดิน่า ลาสลูม (Dina Lasloom) อีกเลย

XS
SM
MD
LG