อุปกรณ์ตรวจจับและวิเคราะห์ตัวอย่างเพื่อวัดระบบแอมโมเนียในน้ำแบบอัตโนมัติ หรือ autonomous batch analyzer ผลงานการคิดค้น ของ 'ณัฐชนน อมรธำมรงค์' นักวิทยาศาสตร์ชาวไทย ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านสมุทรศาสตร์และอุตุนิยมวิทยา สำนักงานสมุทรศาสตร์และชั้นบรรยากาศแห่งสหรัฐ (NOAA) ในนครไมอามี รัฐฟลอริดา คือนวัตกรรมที่มีส่วนยกระดับงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมในการเก็บตัวอย่างและวัดผลได้รวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ผลงานหลายชิ้นที่ณัฐชนนคิดค้นและร่วมพัฒนาอุปกรณ์ ล้วนมีส่วนสร้างความเปลี่ยนแปลงและเพิ่มประสิทธิภาพงานวิจัยวิทยาศาสตร์ จนเป็นที่ยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม นำไปใช้ในงานวิจัยมาแล้วเกือบทุกแห่งทั่วโลก
"นักวิทยาศาสตร์พยายามจะพัฒนาเครื่องมือที่สามารถจะนำไปติดตั้งในไซท์งาน (ภาคสนาม) ที่ต้องการวัดได้เลย ซึ่งปกตินักวิทยาศาสตร์ต้องหาคนไปเก็บตัวอย่าง ตามเวลา แล้วนำไปกลับมาวัดที่แลป แต่พอเอาเครื่องไปติดตั้งเราก็สามารถเก็บตัวอย่าง ประมวลผลและวัดได้เลย ในทุกขั้นตอน" ดร.ณัฐชนน อมรธำมรงค์ ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอ ภาคภาษาไทย
'ดร.ณัฐชนน' สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ด้านเคมีวิเคราะห์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล แต่ก็มีทักษะขั้นสูงด้านคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิคส์ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ทำให้เขาสามารถสร้างและคิดค้นอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ด้วยตัวเอง
'ผมมีพื้นฐานมาจากเป็นช่างอิเล็คทรอนิคส ตอนนั้นเรียน ปวช. ที่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ แล้วก็ไม่รู้จะเรียนอะไร ก่อนจะไปเรียนต่อคอมพิวเตอร์ที่รามคำแหง แต่ก็รู้สึกไม่ชอบ ก็เลยเปลี่ยนไปเรียนเคมี ซึ่งไม่เคยมีความรู้ของสายวิทยาศาสตร์ใน ม.ปลายมาก่อนเลย จึงต้องมานั่งอ่านใหม่หมดเพื่อที่จะสอบให้ผ่านรายวิชาตามที่กำหนด แต่กลายเป็นว่าผมสอบจบเป็นคนแรกในรุ่นที่รามคำแหงในระยะเวลา 3 ปีรับปริญญาตรี จากนั้นก็คิดว่า เราน่าจะทำได้ก็เลยมาเรียนต่อปริญญาโทและเอก ที่ ม.มหิดล ด้านเคมี'
องค์ความรู้ที่หลากหลายทั้งด้านเคมี วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อมและอิเล็คทรอนิคส์คือความพิเศษและคุณค่าสำคัญ ที่นักวิทยาศาสตร์ชาวไทยคนนี้นำมาผสมผสานและพัฒนาด้วยการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆที่ช่วยพัฒนางานวิจัยได้อย่างไม่จำกัด และกลายเป็นความพิเศษที่ทำให้เขาได้รับโอกาสร่วมงานกับองค์กรสิ่งแวดล้อมชั้นนำของโลกในอเมริกา
"ตอนนั้นเรียน ปริญญาเอกที่ ม.มหิดล ได้มาเสนอผลงานที่ลาสเวกัส อเมริกา ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์จาก NOAA ไปเห็นผลงานที่นำเสนอ เขาก็เชิญสัมภาษณ์ ก่อนจะบอกว่าหากเรียนจบก็จะให้มาทำงานเลย ซึ่งทักษะที่ผมมีทั้ง ด้านอิเล็คทรอนิคส์ เคมี และความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ผมยูนีค (unique)ขึ้นมา เพราะการที่เรามี 3 อย่างรวมกันจึงสามารถสร้างเครื่องมือให้นักวิทยาศาสตร์ได้ คือเรามีความรู้ด้านเครื่องมือ ความรู้คอมพิวเตอร์ ความรู้ทางอิเล็คทรอนิคส์ที่เราทำมาเยอะ ทำให้ผมสามารถทำงานและกลายเป็นความพิเศษที่แตกต่างได้"
ณัฐชนน มีความเชื่อมั่นอยู่เสมอว่า จะนำนวัตกรรมและองค์ความรู้ที่เขาคิดค้นกลับมาเผยแพร่และใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะโครงการและแนวคิดการปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบที่เขาเคยตั้งใจไว้
สำนักงานสมุทรศาสตร์และชั้นบรรยากาศแห่งสหรัฐ (NOAA) เป็นหน่วยงานสังกัดรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่เป็นหนึ่งในองค์กรวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมระดับนำของโลก ที่มีภารกิจและบทบาทสำคัญอย่างมากในการศึกษาข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมโลกทั้งในมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของโลกที่กำลังส่งผลในปัจจุบัน