ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ จำนวนไม่น้อยกำลังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาขาดแคลนพ่อครัวแม่ครัวปรุงอาหาร ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารไทยหลายพันแห่งทั่วสหรัฐฯ
'เชฟขาด คนขาด นี่เยอะมาก เป็นปัญหาหลักเลยครับ ผู้ประกอบการจากที่งานหลักๆจะนั่งคุมควอลีตี้ (คุณภาพ) กลับกลายเป็นว่าต้องมานั่งหาคน ทุกวันนี้่นะครับ นี่ก็คือปัญหาหลักที่พวกเขาต้องการคุณภาพกลับคืนมา' จิรัฎฐ์ สุพรมอินทร์ คณะกรรมการชมรมร้านอาหารไทย วอชิงตัน ดี.ซี.และมิดแอตแลนติก สะท้อนปัญหาที่ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในสหรัฐฯต้องเผชิญมาหลายปี ซึ่งส่วนใหญ่บอกเป็นเสียงตรงกันว่าการขอวีซ่าเพื่อว่าจ้างพ่อครัวแม่ครัวจากเมืองไทยมาทำงานในสหรัฐฯ นั้นเป็นไปได้ยากและได้รับการอนุมัติน้อยมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ภูญตา มงคลพลา เจ้าของร้านอาหาร Rice Fine Thai Cuisine จากเมือง Bozeman รัฐมอนทานา ทางตอนกลางของสหรัฐฯ บอกกับวีโอเอ ภาคภาษาไทย ถึงประสบการณ์ตรงที่เธอได้รับ
'ตั้งแต่รัฐบาลชุดใหม่อยู่ๆก็เริ่มมีการตัดวีซ่าทันที เพราะว่า ร้านที่ขอวีซ่าเปิดทำการมา 7 ปีแล้ว และตั้งแต่ระยะเวลาที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาตอนนี้ก็ทำให้เจ้าของร้านเองเกิดการหวาดกลัวกัน เท่าที่ฟังดูมีปัญหาเดียวกันก็คือถ้าทางร้านเราไม่มีพ่อครัวแม่ครัว เจ้าของก็ต้องลงไปทำเอง'
ผู้ประกอบการเชื่อว่านโยบายตรวจคนเข้าเมือง และนโยบาย 'อเมริกามาก่อน' ของรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เน้นการจ้างงานสำหรับคนอเมริกันในประเทศเป็นหลัก ทำให้มีการกำหนดเกณฑ์พิจารณาคุณสมบัติการให้วีซ่าพ่อครัวแม่ครัวจากเมืองไทยด้วยมาตรฐานสูงจนมีน้อยคนที่จะได้รับอนุมัติ
'คือความหวังของเขาผมเข้าใจว่า อยากให้คนอเมริกันมีงานทำ ซึ่งปัญหาของเราคือว่าการฝึกคนครัวให้มีงานทำนั้นไม่ใช่ง่ายสำหรับร้านอาหารไทย ถ้าทำแฮมเบอร์เกอร์ อย่างที่เขาพูดน่ะมันง่าย เอาเนื้อลงไปย่างหน่อยก็เสร็จแล้ว ใส่ซ๊อสนิดหน่อย แต่ของเราต้องเรียนถึงซ๊อส ต้องเรียนถึงผัก เวลาผัดความร้อนมากน้อยยังไงอีก'
ทวีศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล ผู้ประกอบการร้านอาหาร Thai Pavilion แถบกรุงวอชิงตัน ร่วมสะท้อนผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว
'คือเท่าที่ฟังมาคุณสมบัติของเขาก็ตั้งไว้สูง เท่าที่อ่านมาและจากประสบการณ์ที่เห็นมาเลย และคราวนี้ก็คือจะเกิดปัญหากับผู้ประกอบการก็คือ คน(ที่มีคุณสมบัติ) พวกนี้หายากครับ หายากมากๆครับ แล้วคือเตรียมเอกสารก็จะเป็นผลตามมา เพราะว่าคุณสมบัติสูงจริงๆ ที่เขาตั้งไว้' จิรัฎฐ์ สุพรมอินทร์คณะกรรมการชมรมร้านอาหารไทย วอชิงตัน ดี.ซี.ฯ
ก่อนหน้านี้มีความพยายามจาก สำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตันโดย ทพ.ประโยชน์ เพ็ญสุต อดีตอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ ได้ประสานงานจัดการพบปะอย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในสหรัฐฯกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเพื่อหาทางออกและทำความเข้าใจร่วมกันขึ้น
'ทุกแห่งที่เราไป ทุกครั้งที่เราไป จะมีปัญหาเหล่านี้สะท้อนมา ไม่มีพ่อครัว พ่อครัวขาด พ่อครัวไม่พอ ต้องจ้างคนท้องถิ่น รสชาติอาหารเปลี่ยนไป ได้ยินมาจนกระทั่งแบบว่าไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะถิ่น หรือเป็นปัญหาชั่วคราวแล้วแต่เป็นปัญหาที่มีวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้ถึงเป็นจุดที่เราต้องคุยกับเขา หรือสะท้อนให้เขาเห็นปัญหาว่าสิ่งนี้เกิดขึ้น และสะท้อนถึงการประกอบธุรกิจของที่นี่ด้วย และทำให้รสชาติอาหาร ซึ่งนโยบาย รัฐบาลไทยต้องการให้คงรสชาติดั้งเดิมได้รับผลกระทบ' ทพ.ประโยชน์ เพ็ญสุต อดีตอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์
การขาดแคลนพ่อครัวแม่ครัวมือปรุงอาหาร ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจของการทำธุรกิจร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ เริ่มส่งผลในวงกว้าง ต่อคุณภาพและการบริหารของร้านไทยหลายแห่ง
'คนครัวปกติผมจะมีอย่างน้อยเกือบจะ 7-8 คนในครัว แต่ตอนนี้เหลือ 3-4 คน เพราะฉะนั้นหายไปครึ่งต่อครึ่งต่อครึ่งเลย การบริการลูกค้าก็มีไม่ถึง ปัญหาเราก็หนักขึ้นเรื่อยๆ คือพูดง่ายๆว่านอกจากคนไทยที่จะทำครัว จะปรุงทำอาหารไทย ก็จะลำบากถ้าจ้างคนอื่น ก็อาจจะมีคนต่างชาติ แต่ส่วนมากก็ไม่ผ่านมาตรฐาน โดยเฉพาะอเมริกันที่เกิดที่นี่ ก็เกือบจะไม่มีใครทำงานด้านนี้แล้ว' ทวีศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล ผู้ประกอบการร้านอาหาร Thai Pavilion แถบกรุงวอชิงตัน
ข้อมูลจากสำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตไทย ที่กรุงวอชิงตัน ระบุว่ามีร้านอาหารไทยที่เปิดบริการทั่วสหรัฐรวมทั้งสิ้นประมาณ 5,400 แห่ง กระจายในหลายภูมิภาคขณะที่เงื่อนไขและนโยบายการเข้มงวดเรื่องการตรวจคนเข้าเมืองและการทำงานในสหรัฐมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลาการในร้านอาหารเด่นชัดขึ้นมามากขึ้น